แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดของจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท และตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่าความผิดตาม พระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยก็มีอำนาจกำหนดโทษปรับเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะโทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นโทษที่เบากว่าโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นนักศึกษา โดยปรากฏหลักฐานตามใบรับรองแนบท้ายอุทธรณ์ว่า จำเลยอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงที่โรงเรียนอุดรพณิชยการเทคโนโลยี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยสักครั้งหนึ่งเพื่อให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีและได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนต่อไป น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ซึ่งความผิดของจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท และตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยก็มีอำนาจกำหนดโทษปรับ เพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะโทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นโทษที่เบากว่าโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 และเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองของจำเลย เห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 400,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.