แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์คันเกิดเหตุที่หายไปให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์คันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวแก่โจทก์หรือชำระเงิน 251,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน น – 8453 กระบี่ แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 พฤษภาคม 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้นายพรสัยจะมิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าได้นำรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุมาจอดไว้ที่บริเวณที่จอดรถยนต์โรงแรมจำเลยก็ตาม แต่วันรุ่งขึ้นเมื่อนายพรสัยทราบแน่ชัดว่ารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุได้สูญหายไป นายพรสัยไปแจ้งแก่นางสาววิชญา กรรมการจำเลยให้ทราบทันที ซึ่งนางสาววิชญาพยานจำเลยก็เบิกความเจือสมข้อเท็จจริงดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกวิทยา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกระบี่ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานเชื่อว่ารถยนต์คันเกิดเหตุถูกลักไปจริง จึงรับคำร้องทุกข์และบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ ที่จำเลยฎีกาว่ารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไม่ได้สูญหายไปขณะจอดที่บริเวณที่จอดรถหน้าโรงแรมจำเลย แต่พวกนายพรสัยที่มาพักโรงแรมจำเลยด้วยกันขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไป โดยมีนายสุรัตน์และนายสุทัศน์เป็นประจักษ์พยานรู้เห็น ซึ่งนายสุรัตน์พยานจำเลยเบิกความว่าเห็นชายผิวคล้ำเดินถือกุญแจลงมาจากห้องพักแล้วขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไป ส่วนนายสุทัศน์พยานจำเลยเบิกความว่า เห็นพวกนายพรสัยรูปร่างสูงเดินไปไขกุญแจประตูรถแล้วขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไป คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าวเพียงเท่านี้ยังไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ที่ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปจากบริเวณที่จอดรถหน้าโรงแรมจำเลยเป็นพวกนายพรสัยที่มาพักโรงแรมจำเลยด้วยกัน ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายพรสัยขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปจอดที่บริเวณที่จอดรถหน้าโรงแรมจำเลยและเข้าพักในโรงแรมจำเลย แล้วรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุได้สูญหายไป จำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่ารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุเป็นของมีค่าอย่างอื่น หากจำเลยต้องรับผิดก็ไม่เกิน 500 บาท นั้น เห็นว่า แม้ราคารถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจะค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป จึงยังถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่า กรณีไม่อยู่ในข่ายที่จำเลยจะต้องรับผิดเพียง 500 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 675 วรรคสอง นายพรสัยไม่จำต้องแจ้งฝากรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไว้ต่อจำเลย เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสระสินผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จำเลยจำต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของนายสระสิน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ หมายเลขทะเบียน น – 8453 กระบี่ แก่โจทก์ก่อน หากคืนไม่ได้จึงให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยเนื่องจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสระสินผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน น – 8453 กระบี่ แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.