คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท น. ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่น โดยให้ผู้ขายเรียกเก็บค่าสินค้าจากสาขาหรือตัวแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ตกลงใช้เงินคืนให้แก่โจทก์โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บ เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ในอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัด ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าฐานผิดสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับในรูปดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 นั้นเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน โดยเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของธนาคารโจทก์อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรให้ลดลงตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 โดยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เก็บจากลูกค้าทั่วไป ตามประกาศธนาคารโจทก์โดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศธนาคารโจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า “เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้” บทบัญญัติมาตรา 728 ดังกล่าวหาได้มีลักษณะให้การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการที่ผู้รับจำนองต้องทำเองเฉพาะตัวไม่ เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ลูกหนี้แทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวไว้ตามใบไปรษณีย์ตอบรับแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว

Share