แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามและจำเลยมีข้อพิพาทระหว่างกันทั้งคดีแพ่งและอาญา การที่ต่อมาโจทก์ทั้งสามและจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยระบุให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาแผ่นดินด้วย ข้อตกลงให้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่สัญญาประนีประนอมยอมความยังมีข้อตกลงอื่น ๆ อีกหลายประการ แสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าประสงค์ให้ข้อตกลงอื่นนอกเหนือจากข้อตกลงเรื่องการถอนฟ้องคดีอาญา คงมีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอยู่ และข้อตกลงอื่นไม่ต้องห้ามโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพฤติการณ์แห่งกรณีจึงสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ ข้อตกลงส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อตกลงเรื่องการถอนฟ้องคดีอาญาคงมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่
ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยปลอดภาระจำยอม ซึ่งศาลพิพากษาตามยอมให้นั้น คำพิพากษาดังกล่าวไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกที่จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมให้หลังจากทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสามแล้ว เพราะมิได้พิพากษาบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายโจทก์จะบังคับเอาแก่จำเลยตามคำพิพากษาโดยลำพังเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่โจทก์ทั้งสามนำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยปลอดภาระใด ๆ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมบันทึกข้อตกลงภาระจำยอมรวม 4 รายที่จำเลยทำขึ้น ให้จำเลยรับผิดค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และค่าภาษีเงินได้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากจำเลยไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้โจทก์ทั้งสามนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้เองโดยลำพังและห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการเก็บผลประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยพลัน และตลอดไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาให้บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยและนายวีระเป็นโมฆะและห้ามโจทก์ทั้งสามเกี่ยวข้องเช่นเก็บผลประโยชน์หรืออ้างสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินพิพาทอีกต่อไป
โจทก์ทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ข้อตกลงประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 9 มีนาคม 2541 เป็นโมฆะเฉพาะข้อตกลงให้ถอนฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1134/2540 ในข้อ (1) และให้จำเลยรับเงินจำนวน 700,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสามนำไปวางไว้ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยปลอดภาระจำยอม ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางไม่ให้โจทก์ทั้งสามเก็บผลประโยชน์ในที่ดินให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม กำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นตามฟ้องและตามฟ้องแย้งให้ยก ส่วนที่จำเลยขอให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นนั้น เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงให้ยกคำขอเช่นเดียวกัน ค่าคำขอให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์ทั้งสามและจำเลยกับนายวีระ มีคดีพิพาทฟ้องร้องกันหลายคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2541 ทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยมีข้อตกลงรวม 10 ข้อ โดยข้อตกลงข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ทั้งสามตกลงยินยอมถอนฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1134/2540 คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 763/2540 และที่ 808/2540 ที่โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องจำเลยกับนายวีระต่อศาลจังหวัดแพร่ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 มีนาคม 2541 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความดังกล่าว ตกเป็นโมฆะทั้งหมดหรือเป็นโมฆะเฉพาะข้อ 1 ในส่วนที่ให้โจทก์ทั้งสามถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1134/2540 ที่ระบุให้โจทก์ทั้งสามถอนฟ้องนั้น เป็นคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ ข้อตกลงให้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามบันทึกข้อตกลง นอกจากข้อตกลงให้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวแล้วยังมีข้อตกลงอื่น ๆ อีกหลายประการ ซึ่งได้ความว่า ทั้งสองฝ่ายต่างได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว คงเหลือเฉพาะข้อตกลงตามข้อ 4 และข้อ 5 คือให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 700,000 บาท และให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสามเท่านั้น ที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้นำเงินจำนวน 700,000 บาท ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์จังหวัดแพร่แล้วแจ้งให้จำเลยทราบ และจำเลยได้ไปขอรับเงินดังกล่าวแล้วแต่เจ้าพนักงานไม่จ่ายเงินให้เพราะจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยปราศจากภาระติดพันได้ แสดงว่าฝ่ายจำเลยก็มีความประสงค์จะบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงประนีประนอมยอมความแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าประสงค์ให้ข้อตกลงส่วนอื่นนอกเหนือจากข้อตกลงเรื่องการถอนฟ้องคดีอาญา คงมีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอยู่เช่นเดิม และข้อตกลงส่วนอื่นทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีพิพาททางแพ่งทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพฤติการณ์แห่งกรณีจึงสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะ จึงไม่ทำให้ข้อตกลงประนีประนอมยอมความตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ ข้อตกลงส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อตกลงเรื่องการถอนฟ้องคดีอาญาคงมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173
ปัญหาตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า คำพิพากษาที่ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยปลอดภาระจำยอมชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำที่ดินไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่บุคคลภายนอก 4 ราย หลังจากทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้ว โดยข้อตกลงมิได้ให้อำนาจจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ จำเลยย่อมรู้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียเปรียบ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามโดยปลอดภาระจำยอมจึงชอบแล้ว และคำพิพากษาดังกล่าวหาได้กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกไม่ เพราะมิได้พิพากษาบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายโจทก์จะบังคับเอาแก่จำเลยตามคำพิพากษาโดยลำพังเท่านั้น คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสามส่วนค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยให้เป็นพับ.