คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและพิพากษายกอุทธรณ์เสียนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่ามีเหตุอันควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่
ข้ออ้างที่ว่าทนายจำเลยเชื่อคำบอกเล่าของเจ้าพนักงานศาลและทนายคนเดิมว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 และทนายจำเลยต้องว่าความทุกวันไม่สามารถมาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองได้ ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 14 ปี และปรับ 400,000 บาท ให้นำโทษจำคุกคดีละ 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2112/2544 และ 4473/2545 ของศาลชั้นต้นบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 14 ปี 12 เดือน และปรับ 400,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ในกรณีที่มีการกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2546 นายสวัสดิ์ทนายจำเลยซึ่งศาลชั้นต้นตั้งให้และมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะศาลชั้นต้นยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 12 มกราคม 2547 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2546 จำเลยตั้งนายชัชวาลเป็นทนายจำเลยโดยให้มีอำนาจอุทธรณ์และฎีกา วันที่ 19 มกราคม 2547 นายชัชวาลยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลอนุญาต ไม่รับอุทธรณ์ วันที่ 23 มกราคม 2547 นายชัชวาลยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาให้ยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานศาลและนายสวัสดิ์ทนายจำเลยคนก่อนว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 เป็นเหตุให้สำคัญผิดทำให้ยื่นอุทธรณ์ไม่ทันภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย จึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2547 ได้หรือไม่ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะยื่นอุทธรณ์แล้วหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยดังกล่าว จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและพิพากษายกอุทธรณ์เสียนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่ามีเหตุอันควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาและพิพากษาใหม่ ในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำว่า “เหตุสุดวิสัย” ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หมายถึง เหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่จำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ เพราะทนายจำเลยขอดูสำนวนเพื่อตรวจดูว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงเมื่อใด แต่เจ้าพนักงานศาลแจ้งว่าสำนวนอยู่ระหว่างการเสนอผู้พิพากษา เมื่อเจ้าพนักงานศาลดูบันทึกแล้วแจ้งว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 นอกจากนี้ทนายจำเลยยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามทนายจำเลยคนเดิมก็ได้รับแจ้งว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 ทำให้ทนายจำเลยเชื่อ ประกอบกับทนายจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครต้องว่าความทุกวันจึงไม่สามารถมาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองได้ เห็นว่า ข้ออ้างที่ว่าทนายจำเลยเชื่อคำบอกเล่าของเจ้าพนักงานศาลและทนายจำเลยคนเดิมว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2547 และทนายจำเลยต้องว่าความทุกวันไม่สามารถมาดูคำสั่งศาลด้วยตนเองได้ ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และยกคำร้องลงวันที่ 23 มกราคม 2547 ของจำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น.

Share