คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8775/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ข่มขืนกระทำชำเราแล้วจำเลยกลัวความผิดจึงนำผู้ตายไปซ่อนในท่อน้ำ การที่จำเลยนำผู้ตายไปซุกซ่อนไว้ในท่อน้ำซึ่งอยู่ห่างไปจากที่เกิดเหตุจนผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะสำลักน้ำโคลน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิดของตน อันเป็นความผิดสองกรรม
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ไม่อาจนำเอาโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนโทษจำคุกดังกล่าวเป็นให้ส่งไปฝึกและอบรมแล้ว มารวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิดของตน โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษในความผิดฐานดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้
ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยได้ถูกควบคุมตัวและฝึกอบรมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อคิดหักระยะเวลาการควบคุมตัวและฝึกอบรมของจำเลยดังกล่าวแล้ว คงเหลือระยะเวลาที่จะต้องฝึกและอบรมอีกระยะหนึ่งถึงจะครบกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว การที่จะให้จำเลยเข้ารับการฝึกและอบรมต่อในระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น จึงไม่เหมาะสม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมดังกล่าวเสียให้เหมาะสม โดยให้งดการฝึกและอบรมจำเลยในส่วนระยะเวลาที่เหลืออยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 33, 91, 277 วรรคสอง, 288, 289 ริบผ้าขาวม้า ผ้าห่ม และมีดพร้าของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพฐานกระทำชำเราผู้ตาย แต่ให้การปฏิเสธฐานฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิด และเพื่อให้พ้นอาญาในความผิดที่กระทำไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดประกอบกับรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา แล้วปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุสิบหกปีเศษ จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 จำคุก 8 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อศาลในการพิจารณา ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยกระทำผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัย ความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันควบคุมตัวจำเลย ทั้งนี้ให้จำเลยเรียนให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยให้รับการอบรมที่บ้านธารน้ำใจ ริบของกลาง ข้อหาฆ่าผู้อื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) อีกฐานหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบด้วยมาตรา 52 (2) แล้วจำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน รวมกับโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง แล้วคงจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี 8 เดือน และเห็นว่าพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่สมควรเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หลังจากข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายแล้ว จำเลยได้ฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิดของจำเลยหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เป็นความผิดกรรมหนึ่ง และหลังจากที่ข่มขืนกระทำชำเราแล้วจำเลยกลัวความผิดจึงนำผู้ตายไปซ่อนในท่อน้ำซึ่งอยู่ห่างไปจากที่เกิดเหตุจนผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะสำลักน้ำโคลน อันเป็นความผิดฐานฆ่าผู้ตายเพื่อปกปิดความผิดของตนอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
สำหรับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 4 ปี แล้วให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรม มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันควบคุมตัวจำเลย โจทก์อุทธรณ์แต่เฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) ฉะนั้น ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปีจึงยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษานำเอาโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี มารวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน เป็นจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี 8 เดือน จึงเป็นการไม่ชอบเนื่องจากโทษจำคุก 4 ปี ศาลชั้นต้นได้เปลี่ยนเป็นให้ส่งไปฝึกและอบรมแล้ว จึงไม่อาจนำเอาโทษจำคุก 4 ปี มารวมกับโทษจำคุกอีกกระทงหนึ่งได้ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษในความผิดฐานดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี จำเลยได้ถูกควบคุมตัวและฝึกอบรมตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อคิดหักระยะเวลาการควบคุมตัวและฝึกอบรมของจำเลยดังกล่าวแล้ว คงเหลือระยะเวลาที่จะต้องฝึกและอบรมอีกระยะหนึ่งถึงจะครบกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำจังหวัดนครราชสีมาตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว การที่จะให้จำเลยเข้ารับการฝึกและอบรมต่อในระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น จึงไม่เหมาะสม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมดังกล่าวเสียให้เหมาะสมโดยให้งดการฝึกและอบรมจำเลยในส่วนระยะเวลาที่เหลืออยู่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) อีกฐานหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม จำคุก 25 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน สำหรับความผิดตามมาตรา 277 วรรคสอง นั้น ให้งดระยะเวลาฝึกและอบรมที่เหลืออยู่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share