คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2398/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะต้องยื่น ก่อนสิ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย การที่รถจักรยานยนต์ที่จำเลยนั่งมาประสบอุบัติเหตุ จนไม่สามารถไปพบทนายความคนใหม่ได้และไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นเวลาราชการในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายหลังที่สิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปแล้วได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ โดยอ้างเหตุสุดวิสัยว่า หลังจากจำเลยได้รับการปล่อยตัว ชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์จำเลยได้ติดตามหาทนายจำเลย แต่ไม่พบกัน จนกระทั่งวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ จำเลยเดินทางมาที่ศาลชั้นต้นเพื่อติดต่อทนายความคนใหม่ให้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ โดยจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากับญาติเมื่อเวลา ๑๓ นาฬิกาเศษ แต่รถจักรยานยนต์ของจำเลยเกิดอุบัติเหตุชนกับตอไม้ล้มคว่ำจำเลยกับญาติล้มกระแทกพื้นหมดสติไปเป็นเวลานาน มาฟื้นรู้สึกตัวเป็นเวลาค่ำและหมดเวลาราชการแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องมิใช่เหตุสุดวิสัยตามกฎหมายที่จะเป็นเหตุให้จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายได้จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงตามสำนวนได้ความว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ ๕๑ ปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๒ ปี โดยอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๔ จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๔ ครบกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๔ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก ๗ วัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ภายใน วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยอยู่ชนบทห่างไกลความเจริญมีฐานะยากจน ขาดการศึกษาไม่เข้าใจกฎระเบียบของสังคม จำเลยพยายามติดตามหาทนายความของจำเลย แต่ไม่พบ จนวันสุดท้าย จำเลยเดินทางไปติดต่อกับทนายความคนใหม่ แต่รถจักรยานยนต์ที่จำเลยนั่งไปเกิดอุบัติเหตุ จำเลยสลบ ฟื้นขึ้นมาก็หมดเวลาราชการแล้ว จึงถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘ ให้ความหมายของคำว่า เหตุสุดวิสัยไว้ว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๔ จำเลยจึงมีเวลาถึง ๑๖ วัน ในการที่จะติดต่อกับทนายความของตนเพื่อทำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาลก่อนครบกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์หรือหากมีพฤติการณ์พิเศษไม่สมารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันภายในกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ก่อนสิ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ การที่จำเลยอ้างเหตุว่า ติดตามหาทนายความของจำเลยไม่พบ จำเลยก็ควรติดต่อทนายความคนใหม่เสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนถึงกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ เพื่อทนายความคนใหม่จะได้มีเวลาดำเนินการในการยื่นอุทธรณ์ได้ทันภายในกำหนดเวลา การที่จำเลยเพิ่งจะไปติดต่อทนายความคนใหม่เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ อันเป็นวันสุดท้ายของกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า ทนายความคนใหม่อาจยื่นอุทธรณ์หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ทันก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ถือได้ว่า จำเลยไม่ได้จัดการระมัดระวังตามสมควรเช่นบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะและสภาวะเช่นนั้นพึงกระทำเพื่อป้องกันมิให้จำเลยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าว การที่รถจักรยานยนต์ที่จำเลยนั่งมาประสบอุบัติเหตุ จนไม่สามารถไปพบกับทนายความคนใหม่ได้ในวันนั้น และไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นเวลาราชการในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ได้ จึงไม่ถือเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยอันเป็นเหตุให้จำเลยสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายหลังที่สิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลย ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share