คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2956/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญาหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ มีความหมายเพียงว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นจากการที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าเสียหายจากลูกหนี้ในกรณีที่การเลิกสัญญานั้นเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายโดยลูกหนี้มิได้ค้างชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 32,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2541) กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 15 ธันวาคม 2541) ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยเช่าทรัพย์ตามฟ้อง มีกำหนด 60 งวด จำเลยชำระค่าเช่าให้โจทก์ครบ 18 งวดแล้วโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาเช่าโดยโจทก์ได้รับทรัพย์ที่ให้เช่าคืนแล้วในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ได้หรือไม่ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าการเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นมาแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ตนเองไม่ชำระหนี้ แล้วการไม่ชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215 และ 216 บทบัญญัติมาตรา 391 มิได้ให้สิทธิพิเศษที่จะเรียกค่าเสียหายในกรณีที่คู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากัน โดยลูกหนี้มิได้ค้างชำระหนี้หรือผิดสัญญาด้วย ดังนั้น การที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากัน แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเพราะจำเลยเลิกสัญญาก่อนกำหนด ทำให้โจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าอีก 42 งวด แต่เมื่อเป็นการเลิกสัญญาโดยความสมัครใจทั้งสองฝ่ายโดยจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา อีกทั้งค่าเช่า 42 งวด เป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระในเวลาที่มีการเลิกสัญญากัน จึงไม่ใช่หนี้ค้างชำระที่จำเลยต้องรับผิด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share