คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 575/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 21 วัน แต่ผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติ โดยมิได้เบิกความให้เห็นว่าผู้เสียหายต้องเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 297 (8) คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 295 แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยข้อนี้ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องมาด้วยว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และได้ความว่าผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
พยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะร่วมกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปด้วยหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83
แม้คดีนี้จะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ในคดีก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) แต่ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 83 , 93 , 340 , 340 ตรี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสาม จำคุก 20 ปี จำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จึงให้เพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 30 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่าผู้เสียหายต้องใช้เวลารักษาเกินกว่า 21 วัน ส่วนผู้เสียหายเบิกความเพียงว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจากการถูกทำร้ายต้องใช้เวลารักษา 21 วัน จึงหายเป็นปกติ โดยผู้เสียหายมิได้เบิกความให้เห็นว่า ผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อย่างไร ลำพังกระดูกโหนกแก้มขวาหักยังถือไม่ได้ว่าเป็นอันตรายสาหัส ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายที่ต้องใช้เวลารักษาเกิน 21 วัน ก็เป็นเรื่องการรักษาบาดแผลให้หายเป็นปกติเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน อันจะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 297 (8) คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายอันเป็นความผิดตามมาตรา 295 เท่านั้น แม้ปัญหาข้อนี้จะยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ และฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามกฎหมายเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225
สำหรับปัญหาว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันปล้นทรัพย์หรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะร่วมกับพวกเอาทรัพย์ตามคำฟ้องของผู้เสียหายไปด้วยหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อนี้ให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83 เท่านั้น แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์ แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คดีนี้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซ้ำกับความผิดฐานปล้นทรัพย์ของจำเลยในคดีก่อนตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) ดังที่โจทก์ฟ้อง แต่ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในคดีก่อน จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 มาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 2 ปี และให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน กับให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย.

Share