คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจ ที่แท้จริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ว่า พ. มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2
โจทก์ และ ส. บิดาจำเลยที่ 1 ต่างเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยที่ 2 ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้ ส. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออก น.ส. 3 ก. แล้วทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ได้รับ น.ส. 3 ก. สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินจัดสรรของนิคมสหกรณ์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2539
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์นิคม โดยมอบอำนาจให้นายไพศาลเป็นผู้ดำเนินคดีแทน การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงตกเป็นโมฆะ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งจัดสรรให้ผู้ไม่มีที่ทำกินและอยู่ในบังคับห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีอำนาจขอเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ นายสนับ และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ วันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 225,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า นายไพศาลมีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแพ่งแทนจำเลยที่ 2 นายไพศาลจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่าภายหลังจากนายสนับบิดาของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทได้สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 และต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 ตามหนังสือสัญญาการซื้อขาย โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี” การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share