คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบิดาของ ป. โจทก์ยอมให้ ป. ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถือว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับ ป. รับผิดในผลที่ ป. ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย
การที่โจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิดต่อกันเพียงใดนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วย มาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้
จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยเอาประกันภัยไว้ และจะต้องรับผิด ก็ต่อเมื่อจำเลยผู้เอาประกันต้องรับผิด เมื่อโจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 313,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 291,780 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 275,032.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยศรีนครประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 270,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำฟ้องแย้งของจำเลยให้เป็นพับ ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร โดยจดทะเบียนในนามของ นางวาริน ภริยาจำเลย และได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2541 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าเข้าจังหวัดนครราชสีมา เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุได้ชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา ซึ่งมีนายปิยวิทย์ บุตรโจทก์เป็นผู้ขับ และโจทก์นั่งคู่มาด้วย โดยนายปิยวิทย์ขับออกมาจากทางคู่ขนานด้านซ้ายเข้าไปในทางเดินรถหลักเพื่อจะไปกลับรถซึ่งมีทางกลับรถตรงเกาะกลางถนนด้านขวา เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์และจำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อกันอย่างไรหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาของนายปิยวิทย์ การที่โจทก์ยอมให้นายปิยวิทย์ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุเพียง 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาต ขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ย่อมถือได้ว่า โจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับนายปิยวิทย์รับผิดในผลที่ นายปิยวิทย์บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย
ส่วนโจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดต่อกันเพียงใดนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้
จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยเอาประกันภัยไว้ และจะต้องรับผิด ก็ต่อเมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด เมื่อโจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share