คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี บัญญัติว่า เงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินอากร หมายถึงให้ถือเป็นเงินประเภทเดียวกันเท่านั้น หาได้หมายความถึงเป็นมูลหนี้รายเดียวกันไม่ หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง ในขณะนั้นหนี้เงินเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น หนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากไม่ชำระค่าอากรภายในกำหนดตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับปลดเปลื้องไปก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
คดีนี้มีทุนทรัพย์ 15,668.98 บาท ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 2,000 บาท เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าอากรและเงินเพิ่มจำนวน ๑๕,๖๖๘.๙๘ บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑ ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนอากรขาเข้าดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๙,๗๓๒.๒๘ บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ๒๕๓๗ จำเลยนำสินค้าโซ่ทองเหลืองสำหรับเสริมขอบรองเท้าและหนังเทียมเข้ามาในราชอาณาจักรรวมสามใบขนสินค้า โดยจำเลยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออกภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า จำเลยแสดงความประสงค์ขอคืนอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๙ ทวิ โดยจำเลยใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ค้ำประกันไว้แทนการชำระค่าอากรที่ต้องเสีย พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ ๒ และ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๗ จำเลยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกภายในกำหนดจึงต้องชำระค่าอากรและเงินเพิ่ม พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้จำเลยนำค่าอากรพร้อมเงินเพิ่มไปชำระแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงแจ้งให้ผู้ค้ำประกันชำระแทน ผู้ค้ำประกันชำระเงินเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ โจทก์นำเงินดังกล่าวมาชำระเงินเพิ่มก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำมาชำระค่าอากร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า หนี้ค่าอากรและหนี้เงินเพิ่มเป็นมูลหนี้รายเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า การที่บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า เงินเพิ่มให้ถือเป็นเงินอากรนั้นหมายถึงให้ถือเป็นเงินประเภทเดียวกันเท่านั้น หาได้หมายความถึงเป็นมูลหนี้รายเดียวกันไม่ หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ ทวิ วรรคหนึ่ง ในขณะนั้นหนี้เงินเพิ่มยังไม่เกิดขึ้น หนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากไม่ชำระค่าอากรภายในกำหนดตามมาตรา ๑๑๒ จัตวา วรรคหนึ่ง หนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับปลดเปลื้องไปก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๘ วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินประกันมาชำระค่าอากรก่อนชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ ๑๕,๖๖๘.๙๘ บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ ๒,๐๐๐ บาท นั้น เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ตามตาราง ๖ ท้าย ป.วิ.พ. แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ในศาลภาษีอากรกลาง ๑,๒๐๐ บาท จำเลยไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.

Share