คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10866/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และ ธ. ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทได้นำที่ดินพิพาทมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้จะไม่มีการจดทะเบียนโอนในโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาทก็ย่อมเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งให้อายัดและยึดที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 743 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เมื่อปี 2516 โจทก์กับนายเว้ง ชาญวนิชวงศ์ นางสร้อยฟ้า ลี้ไพโรจน์กุล นายธงชัย ลี้ไพโรจน์กุล และนางสนธยา ลี้ไพโรจน์กุล ร่วมกันลงหุ้นประกอบกิจการค้าขายยางพารา โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีนายธงชัยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และในปีเดียวกันนั้นโจทก์ให้นายธงชัยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2518 โจทก์กับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันลงหุ้นจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพารา ในการร่วมกันลงหุ้นดังกล่าวโจทก์และนายธงชัยได้นำที่ดินพิพาทมาลงเป็นหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ตีราคาคนละ 300,000 บาท โดยโจทก์ นายเว้ง นางสร้อยฟ้า และนางสนธยา เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ส่วนนายธงชัยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ครั้นต่อมาปี 2522 โจทก์ นายเว้ง และนางสร้อยฟ้าได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพาราดังกล่าว และมีนายสุขชัย ลี้ไพโรจน์กุล บุตรนายธงชัยและนางสนธยา เข้าเป็นหุ้นส่วนใหม่และเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์และนายธงชัยซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิร่วมกันในที่ดินพิพาทได้นำที่ดินพิพาทมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพารา ดังนี้ แม้จะไม่มีการจดทะเบียนโอนในโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาทก็ย่อมเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนระยองยางพารา อีกทั้งยังปรากฏตามหนังสือสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมมีข้อความระบุว่า (1) ให้ถอนชื่อนายวิสูตร ชาญวนิชวงศ์ (โจทก์) ออกจากการเป็นหุ้นส่วนโดยเหตุโอนทรัพย์สินที่ลงหุ้นทั้งหมดให้แก่นายสุขชัย ลี้ไพโรจน์กุล จำนวน 300,000 บาท กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าการที่โจทก์ออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพารานั้น เพราะเหตุที่โจทก์ได้โอนทรัพย์สิน (ซึ่งก็คือที่ดินพิพาท) ที่ลงหุ้นทั้งหมดให้แก่นายสุขชัย และนายสุขชัยได้นำทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้รับโอนจากโจทก์ดังกล่าวลงเป็นหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพาราต่อไป ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพาราอยู่ต่อไป แม้จะมีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่ก็ตาม และเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพาราเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 อาศัยอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 12 จึงมีคำสั่งยึดและอายัดที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดระยองยางพารา มิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของโจทก์กับนางสร้อยฟ้า และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share