คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5935/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 36 หมายความว่า ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาล ย่อมตัดสิทธิผู้เสียหายคนนั้นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกเท่านั้นหาได้ตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกไม่ เพราะสิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน ทั้งมาตรานี้มิได้บัญญัติตัดสิทธิผู้เสียหายแต่ละคนในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่มิได้ถอนฟ้องจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำเนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐,๒๖๔ และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔๒ และนับโทษต่อกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๖ บัญญัติว่า คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปแล้วผู้เสียหายจะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่ คงให้สิทธิเพียงพนักงานอัยการเท่านั้นที่จะฟ้องใหม่ได้ เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายเช่นเดียวกับนายสุวัฒน์พฤกษ์เสถียร ซึ่งได้ฟ้องคดีเดียวกัน และถอนฟ้องไปแล้วจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนี้อีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการวินิจฉัยในปัญหาดังที่กล่าวและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า การที่จำเลยลงรายการเท็จในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและทำปลอมทะเบียนผู้ถือหุ้นและได้มีนายสุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙มาตรา ๔๒ และข้อหาปลอมเอกสารแล้วแต่ได้ถอนฟ้องไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งและเป็นผู้เสียหายจะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้อีกหรือไม่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๖ บัญญัติว่า “คดีอาญาที่ได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จำนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นดังต่อไปนี้…” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าในคดีอาญานั้นที่ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาล ย่อมตัดสิทธิผู้เสียหายคนนั้นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกเท่านั้น หาได้ตัดสิทธิผู้เสียหายคนอื่นที่จะฟ้องคดีอาญาในข้อหาเดียวกันนั้นอีกไม่ เพราะสิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน ทั้งมาตรา ๓๖ นี้มิได้บัญญัติตัดสิทธิผู้เสียหายแต่ละคนในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนไว้โดยแจ้งชัด ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่มิได้ถอนฟ้อง จึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ ได้
พิพากษายืน.

Share