แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินแผ้วถาง ทำไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวจริง เป็นเวลา 33 ปีแล้ว โจทก์ไม่สืบพยาน ดังนี้คำให้การของจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ว่าจำเลยได้เข้าไปในที่ดินตามฟ้องก่อนที่ที่ดินดังกล่าวจะเป็นป่าสงวน แห่งชาติ การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิด ลงโทษจำเลยไม่ได้
ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๓๓ ถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน แผ้วถางทำไม้ โดยตัดฟันโค่นล้มไม้เหียงและไม้พวง ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔, ๖, ๙, ๑๔, ๓๑ วรรคสอง, ๓๕ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑, ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ริบของกลาง และสั่งให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องตลอดข้อหา จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันได้เข้าไปบุกเบิกที่ดินตามฟ้องมาเป็นเวลา ๓๓ ปีเศษขอให้ลงโทษสถานเบา และศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไว้ด้วยว่า จำเลยทั้งสองรับสารภาพผิดตามฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๔, ๖, ๙, ๑๔, ๓๑วรรคสอง, ๓๕ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑, ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓จำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยมีกำหนดคนละ ๑ปี ของกลางริบ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อศาลแล้ว ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยืนยันตามคำให้การศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาคำให้การให้โจทก์ โจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นกล่าวอ้างในคำให้การที่ว่าจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินตามฟ้องมานาน ๓๓ ปีเศษ ซึ่งเท่ากับก่อนปี ๒๕๐๐ โดยโจทก์แล้วไม่ติดใจสืบพยาน เห็นว่าความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดิน แผ้วถาง ทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องนั้น จะเป็นความผิดต่อเมื่อได้กระทำโดยมีเจตนาที่จะกระทำผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๒๘ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑,๑๓๐ (พ.ศ.๒๕๒๘)ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ลงวันที่๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ การที่จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินตามฟ้องตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ จึงเป็นเวลาก่อนที่ที่ดินดังกล่าวจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ถือได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำผิดตามฟ้องคำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยานศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง.