คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4737/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 10 กระทำกิจการหลายอย่างรวมทั้งฟ้องคดีนี้ จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป และโจทก์ดังกล่าวต่างอ้างว่ามีสิทธิใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิที่เป็นเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์คนละแปลงต่างกัน แม้จะทำหนังสือมอบอำนาจเป็นตราสารฉบับเดียวกันก็ตาม ก็ต้องเสียอากรตามรายบุคคลคนละ30 บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 108 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 21 (ข) จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 270 บาท โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9ปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท จึงไม่บริบูรณ์ ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามมาตรา 118 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามลักษณะ 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งได้แก่อายุความตามมาตรา 1382 ที่กำหนดว่าถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีอายุความ 10 ปี มาตราดังกล่าวมุ่งหมายถึงเฉพาะเจ้าของสามยทรัพย์ผู้ใช้สิทธิทางภารจำยอมในภารยทรัพย์เท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงเจ้าของภารยทรัพย์ แม้จำเลยจะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภารยทรัพย์มาจากนายจิตติโจทก์เจ้าของสามยทรัพย์ก็นับอายุความการใช้ทางพิพาทตั้งแต่นายจิตติเจ้าของเดิมรวมกับระยะเวลาที่จำเลยเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เมื่อปรากฏว่าเกิน 10 ปี ย่อมได้ภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401
โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเฉพาะที่ดินของโจทก์ที่ 10 ศาลอุทธรณ์ก็ต้องพิพากษาให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเฉพาะแต่ที่ดินของโจทก์ที่ 10และระบุเลขที่ดินและเลขโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 10 ที่ได้ความจากทางพิจารณาลงไปให้ชัดเจน และที่ให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงคอนกรีตและประตูเหล็กยืด ก็มีในคำขอท้ายฟ้อง ศาลอุทธรณ์จึงไม่ได้พิพากษาเกินหรือนอกไปจากคำขอท้ายฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ มอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๑๐ ดำเนินคดีแทน เมื่อ ๑๖ ปีมาแล้วนายจิตติ จงอัศญากุล เป็นเจ้าของที่ดินเลขที่ ๗๕๐ ตำบลบุคคลโล อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร ได้จัดสร้างตลาดสดโกบ๊อโดยมีถนนกว้างประมาณ ๔ เมตร ล้อมรอบให้รถยนต์เข้าออกได้ กับจัดสรรแบ่งที่ดินบริเวณรอบตลาดสดโกบ๊อออกเป็นแปลงย่อยแล้วสร้างตึกแถวบนที่ดินดังกล่าวขายให้โจทก์และ ชาวบ้านประมาณ ๑๐๐ คน และยังมีศาลเจ้าโกบ๊ออยู่หลังตึกแถวของโจทก์ที่ ๘ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของตลาดโดยมีถนนตรงศาลเจ้ากว้างประมาณ ๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ไปตัดกับถนนรอบตลาดสดโกบ๊อ ถนนทั้งหมดนายจิตติเจตนาให้ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา ทางดังกล่าวเป็นภารจำยอม ปัจจุบันตลาดสดดังกล่าวเลิกกิจการแล้วประมาณปี ๒๕๒๐ นายจิตติขายตลาดสดพร้อมที่ดินให้จำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองได้ก่อกำแพงคอนกรีตปิดกั้นหลังตึกแถวของโจทก์ที่ ๘ที่ ๙ และที่ ๑๐ ยาว ๑๒ เมตร และก่อกำแพงคอนกรีตทำประตูเหล็กปิดกั้นทางเข้าออกสู่ซอยโกบ๊อทางด้านทิศใต้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน ขอให้พิพากษาว่าทางดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมทั้งหมดให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนทางดังกล่าวเป็นทางภารจำยอม ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและประตูเหล็กที่ได้กั้นทางดังกล่าวตามฟ้อง หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์และชาวบ้านในบริเวณนั้นรื้อถอนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑๐ ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์อื่น ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ มีสิทธิก่อกำแพงคอนกรีตปิดกั้นหลังตึกแถวของโจทก์ที่ ๘ ที่ ๙ และที่ ๑๐ กับมีสิทธิก่อกำแพงทำประตูเหล็กปิดกั้นทางออกซอยโกบ๊อ เพราะจำเลยที่ ๑เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว และที่ดินมิใช่ทางภารจำยอม จำเลยที่ ๑ซื้อที่ดินจากนายจิตติโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ ๑๐ ปี โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ทางพิพาทอีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนทางดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงคอนกรีตและประตูเหล็กที่ปิดกั้นหลังตึกแถวของโจทก์ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ และทางเข้าออกสู่ซอยโกบ๊อ เว้นแต่ประตูเหล็กยึดด้านที่ติดกับซอยโกบ๊อให้คงไว้สภาพเดิมโดยห้ามมิให้ปิด เมื่อรื้อถอนแล้วให้จำเลยจัดทำให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ ๔,๐๐๐ บาทแทนโจทก์
โจทก์ทั้งสิบและจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ ๑๐ ที่ดินเลขที่ ๑๘๕๕ โฉนดที่ดินเลขที่ ๕๗๓๕ตำบลบุคคโล อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงคอนกรีตที่ปิดกั้นหลังตึกแถวของโจทก์ในที่ดินดังกล่าวและรื้อประตูเหล็กยึดด้านที่ติดซอยโกบ๊อดวย ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับทั้งสองศาล ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ ๑๐ โดยกำหนดค่าทนายความรวมกันเป็นเงิน ๘๐๐ บาท
โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๑ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ มอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๑๐ กระทำกิจการหลายอย่างรวมทั้งฟ้องคดีนี้ จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปประกอบกับโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ ต่างคนต่างอ้างว่ามีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิที่เป็นเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์คนละแปลงต่างกัน ซึ่งตามสภาพควรจะทำหนังสือมอบอำนาจแยกกัน เช่นนี้แม้จะทำหนังสือมอบอำนาจเป็นตราสารฉบับเดียวกันก็ตาม แต่ก็ต้องเสียอากรตามรายบุคคลหรือคนละ ๓๐ บาท ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๘และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ ๒๑ (ข) ดังนี้เอกสารหมาย จ.๑จึงต้องปิดอากรแสตมป์ ๒๗๐ บาท โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ ปิดอากรแสตมป์มาเพียง ๓๐ บาท จึงไม่บริบูรณ์ ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งตามมาตรา ๑๑๘ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ถึงที่ ๙ ไม่มีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ฟังไม่ขึ้น
สำหรับภารจำยอมนั้นอาจได้มาโดยอายุความซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๐๑ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ ๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งได้แก่อายุความตามมาตรา ๑๓๘๒ โดยมาตรานี้กำหนดว่าถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์มีอายุความ ๑๐ ปี และตามมาตราดังกล่าวมุ่งหมายถึงเฉพาะเจ้าของสามยทรัพย์ผู้ใช้สิทธิทางภารจำยอมในภารยทรัพย์เท่านั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงเจ้าของภารยทรัพย์แต่อย่างใด ดังนี้แม้จำเลยทั้งสองจะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภารยทรัพย์มาจากนายจิตติก็ตาม โจทก์ที่ ๑๐ เจ้าของสามยทรัพย์ก็นับอายุความการใช้ทางพิพาทตั้งแต่นายจิตติเจ้าของเดิมรวมกับระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของติดต่อกันได้ ฉะนั้น โจทก์ที่ ๑๐ ย่อมได้ภารจำยอมทางพิพาทโดยอายุความตามมาตรา ๑๔๐๑
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ ๑๐ กล่าวเพียงว่า ให้ศาลพิพากษาให้ทางพิพาทตามฟ้องเป็นทางภารจำยอมทั้งหมดแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ให้ทางพิพาทเป็นภารจำยอมแต่ที่ดินของโจทก์ที่ ๑๐ ที่ดินเลขที่ ๑๘๕๕ โฉนดที่ดินเลขที่ ๕๗๓๕ ตำบลลุคคโล อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานครให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงคอนกรีตที่ปิดกั้นห้องตึกแถวของโจทก์ และรื้อประตูเหล็กยึดด้านที่ติดซอยโกบ๊อด้วย เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกไปจากคำขอท้ายฟ้องจึงไม่ชอบ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสิบฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสิบทั้งหมดทุกคน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเฉพาะแต่ที่ดินของโจทก์ที่ ๑๐ เท่านั้น ศาลอุทธรณ์กู้ต้องพิพากษาให้ทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเฉพาะแต่ที่ดินของโจทก์ที่ ๑๐ และระบุเลขที่ดินและเลขโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ ๑๐ ที่ได้ความจากทางพิจารณาลงไปให้ชัดเจน ซึ่งก็เป็นที่ดินสามยทรัพย์แปลงเดียวกับที่โจทก์ที่ ๑๐ ฟ้องและให้ศาลพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องนั่นเอง ส่วนที่ให้จำเลยทั้งสองรื้อกำแพงคอนกรีตและประตูเหล็กยึดนั้นก็มีในคำขอท้ายฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่ได้พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องดังจำเลยทั้งสองฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๙ กับจำเลยทั้งสองในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๖๐๐ บาท แทนโจทก์ที่ ๑๐.

Share