คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจาก ช. โดยไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ออกเช็คไว้ แต่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยยอมให้ ช. ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คได้เองเมื่อต้องการเงินคืน ช. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ แล้วนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ถือได้ว่าเป็นการลงวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริตตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์ชอบที่จะกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989
โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังให้รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทซึ่งลงวันที่ 26 มีนาคม 2527 อันเป็นวันตามที่ถูกต้องแท้จริง และเป็นวันกำหนดชำระเงิน ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงในเช็คดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท ทั้งมิได้โต้เถียงว่า ธนาคารตามเช็คไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องส่งอ้างเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐานอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับแล้ว ดังนั้นแม้เช็คพิพาทจะปิดอากรแสตมป์ไม่ถูกต้อง ก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายและสลักหลังเช็คพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และสลักหลังเช็คพิพาท โดยจำเลยนำเช็คพิพาทมาแลกเงินไปจาก ช. ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ได้นำเช็คพิพาทเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่าย ขอให้จำเลยชำระเงิน ๖๕,๑๙๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หนี้ตามเช็คพิพาท จำเลยได้ชำระเงินสดให้ ช. แล้วทั้งสิ้น แต่ ช. มิได้คืนเช็คพิพาทให้จำเลย ช. หรือโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะลงวันที่ในเช็คพิพาท วันที่สั่งจ่ายที่โจทก์ลงในเช็คพิพาทมิใช่วันที่สั่งจ่ายที่แท้จริง โจทก์ลงวันที่โดยไม่สุจริต หากศาลฟังว่าจำเลยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจาก ช. ซึ่งเนื่องมาจากการกู้ยืมเงิน หนี้กู้ยืมก็ขาดอายุความ ๑๐ ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิลงวันที่ในเช็คพิพาทหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยนำเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับไปแลกเงินสดจากร้อยตรีชนิสสร์ โดยไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ออกเช็คไว้ ทั้งได้ความว่า จำเลยกับร้อยตรีชนิสสร์มีความสนิทสนมกันมาก ย่อมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยยอมให้ร้อยตรีชนิสสร์ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทแต่ละฉบับ แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คได้เอง ต่อเมื่อร้อยตรีชนิสสร์ต้องการเงินคืน แต่ร้อยตรีชนิสสร์ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของร้อยตรีชนิสสร์จึงได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ แล้วนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ถือได้ว่าเป็นการลงวันที่ออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริตตามข้อตกลง ซึ่งโจทก์ทั้งสองชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๐ ประกอบมาตรา ๙๘๙
ปัญหาที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและสลักหลัง ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ลงวันที่ออกเช็คคือวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗ อันเป็นวันตามที่ถูกต้องแท้จริง และเป็นวันกำหนดชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ ในวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๘ จึงยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่ง นับแต่วันที่เช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ ถึงกำหนด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ กรณีไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่จำเลยกู้เงินจากร้อยตรีชนิสสร์หรือไม่ ดังที่จำเลยยกชิ้นเป็นข้อต่อสู้
ที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า เช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานเอกสารตามเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๑๐ ปิดอากรแสตมป์เพียง ๒๕ สตางค์ แต่ขณะที่โจทก์ทั้งสองนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ประมวลรัษฎากรบัญญัติให้ชำระค่าอากรแสตมป์ ๓ บาท จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๙ และเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๑๐ กันมิได้โต้เถียงว่า ธนาคารตามเช็คไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องส่งอ้างเช็คพิพาทเป็นพยานหลักฐานอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยอมรับแล้ว คดีไม่จำต้องหยิบยกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๑๐ ขึ้นวินิจฉัยโดยตรงอีก ฎีกาของจำเลยในปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ เป็นเงิน ๖๕,๑๙๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๕๘,๖๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗ ไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เห็นว่าจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้ง ๑๐ ฉบับ รวมกันแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๘,๖๐๐ บาท และโจทก์ทั้งสองขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๗ ไปจนกว่าจำชำระเสร็จ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสองเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าต่อปีตามที่โจทก์ทั้งสองขอ ก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๕๘,๖๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๗ ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น ฎีกาจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๕๘,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๗ ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share