คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยส่งจดหมายข่มขู่เรียกเอาเงินจากผู้เสียหาย หากขัดขืนจะทำการระเบิดร้านค้าของผู้เสียหายให้พังพินาศ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินหรือยอมรับว่าจะให้เงินแก่จำเลยตามที่เรียกร้อง ถือได้ว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนใจนายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี ผู้เสียหายให้ยอมให้เงินจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท แก่จำเลยทั้งสาม โดยขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินจำนวนดังกล่าว จะทำการระเบิดร้านค้าของผู้เสียหายให้พังพินาศไป จนผู้เสียหายกลัวตามที่จำเลยทั้งสามขู่เข็ญ จึงยอมมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๗ และคืนของกลางแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ ประกอบมาตรา ๘๓ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ ๒ ปี ให้คืนของกลางแก่เจ้าของไป
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนี้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๓ กระทำผิดตามฟ้องด้วยพยานจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่จำเลยทั้งสามส่งจดหมายข่มขู่เรียกเอาเงินจากผู้เสียหายจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท หากขัดขืนจะทำการระเบิดร้านค้าของผู้เสียหายให้พังพินาศ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินหรือยอมรับว่าจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสามตามที่เรียกร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๘๐, ๘๓ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๓ ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี อีกทั้งเห็นสมควรระบุวรรคของบทความผิดและบทลงโทษที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ระบุไว้เสียให้ชัดแจ้งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๘๐, ๘๓ ให้จำคุกคนละ ๑ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share