คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ลงโทษตามมาตรา 268 กระทงเดียวให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 265, 268 และเมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นผิดตามมาตรา 264 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสองแต่กระทงเดียว จำคุก 1 ปี ดังนี้ เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓, ๙๑ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๗ แต่กระทงเดียวจำคุก ๓ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่ผิดตามมาตรา ๒๖๔ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แต่ศาลชั้นต้นลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ โดยไม่ระบุวรรคนั้นไม่ถูกต้อง พฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย แต่ศาลชั้นต้นลงโทษหนักเกินไป พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก ๒ ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓, ๙๑ ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๘ กระทงเดียว จำคุก ๑ ปี ๖ เดือนแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓, ๙๑ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง แต่กระทงเดียว จำคุก ๑ ปี โดยวินิจฉัยด้วยว่าจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๖๔ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเพราะจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๖๕ อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกิน ๕ ปี จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ที่จำเลยฎีกาว่าควรส่งสำนวนไปสืบเสาะความประพฤติของจำเลยแล้วส่งสำนวนให้ศาลฎีกาเพื่อพิพากษารอการลงโทษจำคุก โดยวางเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยตามที่เห็นสมควรนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยมานั้นไม่ชอบ
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share