คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างมีสองส่วนคือรูปภาพส่วนหนึ่งกับข้อความอักษรโรมันส่วนหนึ่ง ในส่วนที่เป็นรูปภาพซึ่งเป็นรูปครึ่งม้าครึ่งคนนั้นคล้ายกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ส่วนที่สองมีข้อความว่า “E. Remy Martin & Co”อีกบรรทัดหนึ่ง และคำว่า “REMY MARTIN” อีกบรรทัดหนึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยในส่วนนี้มีเพียงคำว่า “CENTAUR”แตกต่างกับคำว่า “REMY MARTIN” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานสินค้าของโจทก์จนเป็นที่เข้าใจทั่วไปและมีความสำคัญยิ่งกว่าหรือเท่ากับรูปภาพดังกล่าว เมื่อประชาชนไม่เห็นคำนี้อยู่ด้วยย่อมเข้าใจได้ทันทีว่าไม่ใช่สินค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันอันจะทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปครึ่งม้าครึ่งคน (CENTAUR) จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยชนิดสินค้าสุรา จำเลยได้ผลิตและจำหน่ายนาฬิกาโดยลอกเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าของจำเลยเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ และจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนการค้า ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปครึ่งม้าครึ่งคน (CFNTAUR) ดีกว่าจำเลยให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปครึ่งม้าครึ่งคนและอักษรโรมันคำว่า CENTAUR มานานหลายปีก่อนโจทก์เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก และเครื่องหมายการค้าของจำเลยส่วนบนเป็นรูปคนส่วนล่างเป็นม้ากับมีคำว่า CENTAUR อยู่ด้วย ไม่ใช่ครึ่งม้าครึ่งคนและมีคำว่า E. Remy martin และ REMY MARTINรวมอยู่ด้วยอย่างของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปครึ่งม้าครึ่งคนเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “CENTAUR” ดีกว่าจำเลยห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุราที่เรียกกันทั่วไปว่า “เรมี มาร์แตงมีเครื่องหมายการค้ารูปครึ่งม้าครึ่งคนตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยสำหรับสินค้าจำพวก ๔๓ ประเภทสินค้าสุราเมรัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จำเลยผลิตและจำหน่ายนาฬิกา ใช้เครื่องหมายการค้ารูปครึ่งม้าครึ่งคนตามเอกสารหมาย จ.๑๕ และได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย สำหรับสินค้าจำพวก ๑๐ เครื่องบอกเวลาและส่วนประกอบของเครื่องบอกเวลาเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๕ โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าเป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงยกคำคัดค้านของโจทก์ จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศเกาหลี โจทก์ก็ได้คัดค้านการจดทะเบียนของจำเลย
สำหรับในประเด็นข้อที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมายจ.๑๔ กับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.๑๕ แล้ว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยรูปครึ่งม้าครึ่งคนดังรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้ในการวินิจฉัยประเด็นข้อที่สองแล้วส่วนหนึ่ง และใต้รูปดังกล่าวมีข้อความภาษาอังกฤษว่า “E. RemyMartin & Co” บรรทัดหนึ่ง กับอีกบรรทัดหนึ่งมีข้อความภาษาอังกฤษว่า”REMY MARTIN” ส่วนของจำเลยเป็นรูปครึ่งม้าครึ่งคนเช่นกันส่วนบนเป็นตัวคนท่ากำลังพุ่งหอกในลักษณะท่าทางเหมือนกับท่าของโจทก์ ส่วนล่างเป็นตัวม้าอยู่ในท่าทางอย่างเดียวกับของโจทก์คือ ม้ายกขาหน้าทั้งสองข้างคงแตกต่างกันตรงที่ว่า รูปม้าของจำเลยเหยียดเท้าขวาตรง งอเท้าซ้าย ส่วนรูปม้าของโจทก์งอเท้าขวาเหยียดเท้าซ้าย และมีข้อความอักษรโรมันอยู่ใต้รูปดังกล่าวว่า”CENTAUR” เช่นนี้ เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และของจำเลย ต่างมีสองส่วนคือ รูปภาพส่วนหนึ่งกับข้อความอักษรโรมันอีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นรูปภาพครึ่งม้าครึ่งคนนั้น การวางรูปและลักษณะส่วนใหญ่เหมือนกัน คงผิดกันเพียงว่า รูปม้าของจำเลยเหยียดเท้าขวา งอเท้าซ้าย รูปม้าของโจทก์งอเท้าขวา เหยียดเท้าซ้ายซึ่งดูเพียงผิวเผินไม่พินิจพิเคราะห์แทบจะไม่รู้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยส่วนนี้จึงคล้ายกัน แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ส่วนที่สองนั้นมีข้อความว่า “E. Remy Martin & Co” อีกบรรทัดหนึ่ง และคำว่า “REMY MARTIN” อีกบรรทัดหนึ่ง ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้ แม้เป็นชื่อบริษัทโจทก์ แต่โจทก์ก็ได้ใช้และได้ขอจดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายการค้าด้วย และตัวอักษรนี้ก็เป็นชื่อเรียกขานสินค้าของโจทก์ว่า “เรมี มาร์แตง” จนเป็นที่เข้าใจทั่วไป จึงมีความสำคัญยิ่งกว่าหรือเท่า ๆ กับรูปภาพดังกล่าวมาแล้วซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยในส่วนนี้มีเพียงคำว่า “CENTAUR”แตกต่างกับคำว่า “REMY MARTIN” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานสินค้าของโจทก์ เมื่อประชาชนไม่เห็นคำว่า “REMY MARTIN” อยู่ด้วย ย่อมเข้าใจได้ทันทีว่ามิใช่สินค้าของโจทก์ ทั้งสินค้าของจำเลยก็เป็นจำพวกนาฬิกาและส่วนประกอบเครื่องบอกเวลาซึ่งมิใช่สินค้าของโจทก์ที่แพร่หลายอยู่แล้ว จึงไม่ทำให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ศาลฎีกาจึงเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกัน อันจะทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของจำเลย และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นสุดท้าย คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share