คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามนั่งเรือไปที่แพดูดดำแร่ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 1 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ จำเลยที่ 3 ซึ่งแต่งกายและแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัวมองเห็นได้บอก ว. ให้ตักแร่ให้ ว. กับพวกกลัว ตักแร่ให้ 1 ถุง น้ำหนัก 20 กิโลกรัมราคาประมาณ 1,200 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยได้อาศัยการที่จำเลยที่ 3เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัว ประกอบกับที่เกิดเหตุอยู่ในท้องทะเล ไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นหรือช่วยเหลือได้ทันถ้าขัดขืนเป็นการบังคับ ว. กับพวกอยู่ในทีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันข่มขืนใจให้ ว. ต้องตักแร่ให้ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของ ว. กับพวก เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มาด้วยกับจำเลยที่ 1, ที่ 3 แม้ขณะเกิดเหตุจะนั่งอยู่ในเรือแต่ก็อยู่ติดกับแพดูดดำแร่เห็นกันชัดเจน แสดงว่าแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อได้แร่แล้วก็กลับไปพร้อมกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ด้วย
เรือพร้อมเครื่องยนต์ของกลางจำเลยทั้งสามใช้เป็นยานพาหนะไปมาเท่านั้น การกระทำผิดเกิดขึ้นที่บนแพ ไม่เกี่ยวกับเรือและเครื่องยนต์ การที่จำเลยได้แร่มาแล้วบรรทุกเรือไปเป็นเรื่องใช้ยานพาหนะตามปกติ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ มีอาวุธปืนลูกซองสั้น ๑ กระบอกซึ่งเป็นอาวุธปืนที่บุคคลอื่นได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่พร้อมกระสุนปืนลูกซองขนาด ๑๒ จำนวน ๑ นัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำเลยที่ ๓ พกอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในบริเวณชายหาดท่ามะเขือซึ่งเป็นที่สาธารณะโดยเปิดเผย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และมิได้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เรือหัวโทงติดเครื่องยนต์เป็นพาหนะนำไปจอดเทียบกับแพดัน (แพดูดดำแร่) ชื่ออดิสัยแล้วขึ้นไปปล้นทรัพย์แร่ดีบุกน้ำหนัก ๒๐ กิโลกรัม ราคา ๑,๒๐๐ บาทของนายอดิสัย เอกรังษี แล้วพากันขึ้นเรือหัวโทงติดเครื่องยนต์ขับหลบหนีไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐,๓๔๐ ตรี, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ และสั่งให้ริบเรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์ของกลาง ส่วนอาวุธปืนสั้นพร้อมกระสุนปืนคืนให้แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ การกระทำของจำเลยที่ ๓เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง จำคุก ๑ ปีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคสามจำคุก ๖ เดือน ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ (ที่ถูกเป็นมาตรา ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, วรรคสอง,๗๒ ทวิวรรคสอง) จำคุก ๖ เดือน รวมโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ จำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๓รับสารภาพในข้อหานี้ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสอง, ๘๖ จำคุก ๘ เดือนเรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์ของกลางและอาวุธปืนสั้นพร้อมกระสุนปืนคืนให้แก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี ให้จำคุกมีกำหนดคนละ ๑๘ ปี คำรับชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ปรานีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงลงโทษจำเลยทั้งสามคนละ ๑๒ ปี สำหรับ จำเลยที่ ๓เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นโทษจำคุก ๑๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำจังหวัดพัทลุง จำเลยทั้งสามนั่งเรือหัวโทงไปที่แพดูดดำแร่อดิสัย ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ ๑ กิโลเมตร จำเลยที่ ๑ที่ ๓ ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ จำเลยที่ ๒ นั่งอยู่ในเรือ จำเลยที่ ๓พูดกับนายวิชัย สหมอใจ ว่าตักแร่ใส่ถุงให้หน่อย ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ ๓ ใช้อาวุธปืนสั้นชี้ไปมาหรือเปิดเสื้อให้เห็นปืนที่พกอย่างหนึ่งอย่างใดแน่ แต่ก็เชื่อได้โดยสนิทใจว่าเมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ จำเลยที่ ๓ มีอาวุธปืนติดตัวอยู่มองเห็นได้ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้พูดจาข่มขู่แต่อย่างใด ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ได้แร่จากแพดูดดำแร่ เพียง๒๐ กิโลกรัม ทั้ง ๆ ที่ในแพดูดดำแร่มีแร่อยู่ประมาณ ๓๐๐ กิโลกรัมคิดเป็นเงินจำนวนมาก แต่จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องเอาเกินกว่า ๑ ถุงหรือเรียกร้องทรัพย์สินอื่นที่มีอยู่ในแพ เมื่อได้แร่แล้วจำเลยก็ไม่ได้หลบหนี กลับนำแร่เข้าฝั่งโดยเปิดเผย บุคคลในแพดูดดำแร่ก็ไม่คิดที่จะแจ้งความ เมื่อถูกจับจำเลยก็บอกกล่าวทันทีว่าขอแร่มาจากแพดูดดำแร่อดิสัย จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๓ ได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่จำเลยที่ ๑ ที่ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ของผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ ๓ มีอาวุธปืนลูกซองสั้นติดตัวมองเห็นได้ และแต่งกายใส่เสื้อวอร์มตำรวจ นุ่งกางเกงชุดเครื่องแบบตำรวจ ซึ่งการแต่งกายดังกล่าวบุคคลทั่วไปย่อมทราบได้โดยทันทีว่า จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งจำเลยที่ ๓ ยังได้บอกนายวิชัย กับพวกว่าจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยที่แร่ไม่ใช่ทรัพย์ที่บุคคลซึ่งไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนจะขอกันได้ การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ขึ้นไปบนแพดูดดำแร่ แล้วจำเลยที่ ๓ ซึ่งแต่งกายและแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอาวุธปืนติดตัวมองเห็นได้ บอกให้นายวิชัยตักแร่ให้ นายวิชัยกลัวจึงตักแร่ให้เช่นนี้ แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้ใช้อาวุธปืนอย่างไรหรือจำเลยคนใดได้ใช้กำลังประทุษร้าย แต่โดยพฤติการณ์ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ได้อาศัยการที่จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอาวุธปืนติดตัวดังกล่าวประกอบกับที่เกิดเหตุอยู่ในท้องทะเลไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นหรือช่วยเหลือได้ถ้าขัดขืน เป็นการบังคับนายวิชัยกับพวกอยู่ในทีแล้ว ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันข่มขืนใจให้นายวิชัยต้องตักแร่ให้ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และเสรีภาพของนายวิชัยกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคสองแล้ว คงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓หรือเป็นเพียงผู้สนับสนุน เห็นว่า จำเลยทั้งสามนั่งเรือมาด้วยกันขณะเกิดเหตุแม้จำเลยที่ ๒ จะนั่งอยู่ในเรือ แต่ก็อยู่ติดกับแพดูดดำแร่เห็นกันชัดเจน แสดงให้เห็นว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อได้แร่มาแล้วก็กลับไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓
มีปัญหาต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่า เรือหัวโทงพร้อมเครื่องยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดต้องริบนั้น เห็นว่าเรือดังกล่าวจำเลยทั้งสามใช้เป็นยานพาหนะไปมาเท่านั้น การกระทำผิดเกิดขึ้นที่บนแพไม่เกี่ยวกับเรือและเครื่องยนต์ การที่จำเลยได้แร่มาแล้วบรรทุกเรือไปก็เป็นเรื่องใช้ยานพาหนะตามปกติ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓(๑) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังขึ้น ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐วรรคสอง, ๓๔๐ ตรี ให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๙ วรรคสอง, ๘๓ ให้จำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share