คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1779/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ร้องโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้จะได้ความตามคำร้องว่าผู้ร้องได้เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนา เป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่ผู้ร้องหาได้จดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวไม่ โจทก์รับจำนองและมีการจดทะเบียนจำนองถูกต้องตามกฎหมายย่อมได้รับการสันนิษฐานว่ากระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องไม่อาจยกเรื่องการได้กรรมสิทธิ์ดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานในเรื่องการได้กรรมสิทธิ์ของผู้ร้องต่อไปอีก
ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้รับรองหรือมีข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้สิทธิ์มาโดยสุจริตแม้จะมีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายผู้ร้องก็สืบคัดค้านได้นั้น ประเด็นข้อนี้ผู้ร้องหาได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ไม่ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้เงิน โดยจำเลยนำโฉนดที่ดินมาจำนองค้ำประกันเงินกู้ ผลที่สุดโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดที่ดินขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ต่อมาจำเลยผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องและขอเพิ่มเติมคำร้องว่า จำเลยและสามีได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนหนึ่งตามโฉนดดังกล่าวให้ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินส่วนนี้โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว ที่ดินจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินดังกล่าว
โจทก์ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ที่ดินตามโฉนด ๕ โฉนดที่โจทก์นำยึดนั้น จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลจังหวัดธัญญบุรี ยอมไถ่ถอนการจำนอง ถ้าผิดนัดยอมให้นำที่ดินทั้งหมดขายทอดตลาดชำระหนี้ซึ่งนายอดุลย์ รื่นสุข ผู้รับมอบอำนาจคดีนี้ก็ทราบดีแต่มิได้คัดค้าน แสดงว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของจำเลย ที่ดินทั้งหมดเดิมเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๙ โฉนดเดียว ต่อมาโจทก์ยอมให้จำเลยขอแบ่งแยกโฉนดให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และแบ่งออกเป็นโฉนดเลขที่ ๖๑๙๓ ถึง ๖๑๙๕ ส่วนโฉนดเลขที่ ๘๑๙ เดิมคงเหลือเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๒ งาน ๒๒ วา ถ้าผู้ร้องครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของจะต้องคัดค้านการรังวัดในครั้งนี้ หนังสือสัญญาจะยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่มัสยิดเป็นเอกสารที่ผู้ร้องและจำเลย สามีจำเลยร่วมกันปลอมแปลงแก้ไขโดยไม่สุจริต เพื่อจะช่วยจำเลยและให้ทรัพย์พ้นจากการถูกยึด ตามเอกสารดังกล่าวจะเห็นว่าทำเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๑๑ แต่ได้มีการปลอมแปลงเป็น พ.ศ.๒๕๐๑ และการยกให้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ ทั้งสิทธิการครอบครองของผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียน จะใช้ยันกับบุคคลภายนอกเช่นโจทก์ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้ และผู้ร้องไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินตามที่อ้างมาแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายในเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔
วันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่ต้องสืบพยานและไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นโดยจะยกขึ้นกล่าวในคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำร้องไม่เคลือบคลุม ตามคำร้องอ้างว่าจำเลยยกที่ดินให้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียน จึงไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยจำนองที่ดินไว้กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิยึดที่ดินเต็มตามโฉนด หากผู้ร้องครอบครองที่ดินมาจนได้กรรมสิทธิ์บางส่วนก็มิได้จดทะเบียน จะยกขึ้นต่อสู้ผู้รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วไม่ได้ พิพากษาให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องอุทธรณ์อย่างอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาอย่างอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว คดีนี้แม้จะได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า จำเลยและสามีจำเลยได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่ ๑๐๐ ไร่ อันเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๘๑๙ ให้ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินส่วนนี้มาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน ๑๐ ปีแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องก็ตาม แต่ผู้ร้องหาได้จดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวไม่ โจทก์รับจำนองและมีการจดทะเบียนการจำนองถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมได้รับการสันนิษฐานว่ากระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องไม่อาจยกเรื่องการได้กรรมสิทธิ์ดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานในเรื่องการได้กรรมสิทธิ์ของผู้ร้องต่อไปอีก ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้รับรองหรือมีข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้สิทธิมาโดยสุจริตแม้จะมีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมาย ผู้ร้องก็สืบคัดค้านได้นั้น เห็นว่าประเด็นข้อนี้ผู้ร้องหาได้ยกขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ไม่ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share