คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 771/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ค. เป็นบริษัทในต่างประเทศได้ร่วมกันอีกบริษัทหนึ่งทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันกับกระทรวงกลาโหม โจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญากับกระทรวงกลาโหมแทนบริษัท ค. บริษัท ค. ได้มอบให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีสิทธิทำการทุกอย่างใดขอบเขตเรื่องการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีสิทธิทำการทุกอย่างในขอบเขตเรื่องการก่อสร้างกลั่นน้ำมัน โจทก์ได้มีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมชี้แจงข้อความเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้ลงนามกู้เงินจากธนาคารมาใช้ในการก่อสร้างโดยเปิดบัญชีไว้ 4 บัญชี ทุกบัญชีโจทก์มีอำนาจสั่งจ่าย ครั้นก่อสร้างเสร็จกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินค่าจ้างแก่ธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชีไว้ แล้วธนาคารจึงจ่ายต่อไปให้แก่ผู้รับเหมา เมื่อมีเงินเหลือธนาคารก็จ่ายให้โจทก์และโอนเข้าบัญชีอื่นๆ ที่โจทก์มีอำนาจสั่งจ่าย แม้บริษัท ค. จะมีสำนักงานไว้ ณ สถานที่ก่อสร้างก้เพื่อติดต่อเกี่ยวกับคนงานที่มาก่อสร้างเท่านั้น มิใช่บริษัท ค. ใช้สถานที่นั้นเป็นสาขาประกอบการค้าในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้ทำการแทนบริษัท ค. เป็นผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้า และเสียภาษีการค้าตามรายรับเงินค่าจ้างของบริษัท ค.
ธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชีไว้เป็นผู้รับเงินค่าจ้างของบริษัท ค.จากกระทรวงกลาโหมมาจ่ายให้บริษัท ค.ผู้รับจ้าง เงินที่รับมานั้นจึงเป็นค่าจ้างทำของซึ่งจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามจำนวนเงินแบ่งสินจ้าง เมื่อโจทก์เป็นผู้กระทำการแทนบริษัท ค. ในประเทศไทย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกให้โจทก์เสียค่าอากรแสตมป์ในเงินค่าจ้างซึ่งเสมือนเสียจากผู้รับจ้างนั่นเอง โจทก์ต้องเป็นผู้เสียค่าอากรแสตมป์นี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ได้ส่งแบบแจ้งจำนวนเงินภาษีการค้าไปยังโจทก์ ๙ ฉบับ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทคอนเมนตรีอัวเซล จำกัด ให้โจทก์ชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่ม แต่โจทก์ไม่ใช่ตัวแทนของบริษัทดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี จำเลยใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายต่อโจทก์ ทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าโจทก์ดำเนินการค้าตกต่ำถึงกับค้างภาษีจำนวนมากกระทบกระเทือนต่อการค้า จึงขอให้ใช้ค่าเสียหาย ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ ๑ ตลอดจนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่โจทก์ลงนามในสัญญา เอกสารหมาย จ.๘ ในฐานะผู้รับจ้างกับกระทรวงกลาโหมผู้จ้าง แทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ผู้รับจ้าง ตามหนังสือมอบอำนาจของบริษัทคอมเมนตรี อัวเซล จำกัด เอกสารหมาย จ.๑๐ และตามหนังสือมอบอำนาจของบริษัทคอมเมนตรี อัวเซล จำกัด ที่ให้โจทก์กระทำการแทนตามเอกสารหมาย จ.๑๒ การรับมอบอำนาจทั้งสองคราวนี้เป็นการมอบอำนาจเพียงให้โจทก์ลงนามแทนในสัญญา ไม่ใช่เป็นผู้ทำการแทนในการประกอบการค้า จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าแทนไม่ได้ ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๑๘/๒๕๐๕ ระหว่างบริษัทบาโรเบราว์ จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตามพฤติกรรมของบริษัทบาโรเบาว์ โจทก์ที่ได้กระทำไปนั้นเป็นแต่เพียงผู้ติดต่อแทนบริษัทเยนเนอร์รัลอีเล็คทริค จำกัด ในประเทศอังกฤษเฉพาะในกิจการลงนามในสัญญาระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และการที่บริษัทบาโรเบราว์ จำกัด โจทก์ทวงถามให้จ่ายเงินตามสัญญา การจัดให้มีการออกใบรับเงินและการรับส่งวัสดุเครื่องอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ เป็นการกระทำเป็นสื่อกลางติดต่อในกิจการเฉพาะรายตามสัญญาเท่านั้น ซึ่งกิจการเหล่านี้จะถือว่ามีการประกอบการค้าหรือดำเนินการเป็นปกติธุระอันมีบริษัทบาโรเบราว์ โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าแทนยังไม่ได้ บริษัท บาโรเบราว์ฯ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในภาษีการค้า แต่ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่เหมือนกับคดีนี้ เพราะคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อโจทก์ได้ลงนามแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ในการตกลงเข้าเป็นผู้รับจ้างร่วมกับบริษัทฟูจิคาร์ตามสัญญารับก่อสร้างเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การติดตั้งก่อสร้างโรงกลั่นกรองน้ำมันกับกระทรวงกลาโหมผู้จ้างตามเอกสารอุปกรณ์การติดตั้งก่อสร้างโรงกลั่นกรองน้ำมันกับกระทรวงกลาโหมผู้จ้างตามเอกสารหมาย จ.๘ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๐๒ แล้วนั้น การปฏิบัติของโจทก์หาได้ยุติเพียงแค่ลงนามในสัญญาเท่านั้นไม่ ความยังปรากฏว่าในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โจทก์ได้มีหนังสือถึงกระทรงกลาโหมผู้จ้างชี้แจงข้อความบางประการเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงกลั่นกรองน้ำมัน และกระทรวงกลาโหมก็ได้มีหนังสือที่ ๔๕๓๓/๒๕๐๓ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ถึงโจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีใจความว่า กระทรวงกลาโหมรับทราบเรื่องที่ผู้รับจ้างจะส่งเครื่องจักรกลและวัสดุก่อสร้างเข้ามาจากประเทศฝรั่งเศสและชี้แจงเกี่ยวการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนวิธีการที่จะให้กระทรวงกลาโหมชำระเงินค่าก่อสร้างให้โดยผ่านธนาคารดังเอกสารหมาย จ.๓๖ อันดับ ๑๖ และจากนั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๓ บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ก็ได้มอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีสิทธิที่จะกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องและภายในขอบเขตเรื่องการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำทั้งรับรองการกระทำที่โจทก์ได้ทำและจะทำโดยชอบทุกประการอีกตามเอกสารหมาย จ.๑๒ อนึ่ง เมื่อบริษัทฟูจิคาร์ฯ กับบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ไม่ได้นำเงินจากต่างประเทศมาใช้จ่ายลงทุนในการรับจ้างก่อสร้าง โจทก์ได้ลงนามเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด มาใช้จ่ายในการก่อสร้างในนามของบริษัททั้งสองเป็นเงินประมาณ ๓๓๐ ล้านบาท โดยได้เปิดบัญชีผู้ที่มีอำนาจสั่งจ่ายเงินนี้ไว้ ๔ บัญชี และทุกบัญชีที่เปิดไว้นั้น โจทก์ผู้เดียวมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔๒ ซึ่งแสดงว่าโจทก์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจควบคุมการเงินเกี่ยวกับการใช้เครดิตเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารกรุงไทย จำกัด มาใช้จ่ายในการลงทุนประกอบกิจการรับจ้างสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม และในบัญชีที่เปิดไว้ ๔ บัญชีนั้น มีบัญชีของบริษัทวิทยาคม จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนี้อยู่ ๒ บัญชี กับบัญชีในนามของโจทก์เองอีก ๑ บัญชี เห็นได้ว่าโจทก์มีบัญชีของโจทก์เองเกี่ยวกับการเงินที่ใช้ลงทุนในการรับจ้างสร้างโรงกลั่นน้ำมันนี้อยู่ด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันเสร็จเรียบร้อยแล้วกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินค่ารับเหมาก่อสร้างให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด ก็ได้จ่ายต่อไปให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยวิธีจ่ายเงินที่ได้รับมานั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารออกให้ไปตามที่ได้เปิดเครดิตติดบัญชีไว้กับธนาคาร และเมื่อยอดเงินยังมีคงเหลือยังไม่ได้จ่ายอีกสี่สิบแปดล้านบาทเศษ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ก็ได้จ่ายไปตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งออกในนามโจทก์สองล้านบาทเศษ โอนเข้าบัญชีบริษัทวิทยาคมจำกัด เป็นเงินแปดล้านบาทเศษและโอนเข้าบัญชีบริษัทฟูจิคาร์ฯ และบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด อีกสามสิบหกล้านบาทเศษปรากฏตามเอกสาร จ.๕๑ ซึ่งบัญชีเหล่านี้โจทก์มีอำนาจสั่งจ่าย พฤติกรรมที่โจทก์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการทางการเงินเช่นนี้โจทก์จะเถียงว่า โจทก์เป็นเพียงลงนามแทนในสัญญาเท่านั้น โดยไม่ได้ปฏิบัติการอย่างใดเพื่อให้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ผู้รับจ้างแต่อย่างไรนั้นจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าก่อนและหลังจากที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มอบอำนาจให้โจทก์ทำแทนดังกล่าว บริษัท คอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีสาขาอยู่แล้ว และการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันก็มีคนของบริษัทนี้เองมาดำเนินการก่อสร้างโดยที่ตั้งของสาขา เติมเช่าบ้านเลขที่ ๒๕๐/๒ ซอยสุจริตเหนือ แล้วต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านเลขที่ ๕๙ ถนนงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ ดังปรากฏสถานที่อยู่ตามเอกสารหมาย จ.๑๔ จ.๑๕ จ.๑๖ และจ.๑๗ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หนังสือดังกล่าวจะระบุสถานที่อยู่ว่าเป็นของตัวแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการติดต่อโดยหนังสือดังกล่าวนั้น ก็เป็นการติดต่อถึงเรื่องที่บริษัท คอมเมนตรีอัวเซล จำกัด จะทำการเกี่ยวแก่การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นเรื่องกิจการภายในของการจะทำการก่อสร้างเพื่อให้เป็นผลสำเร็จตามสัญญาที่ได้รับจ้างไว้ และถึงแม้ได้ความจากพลโทวิรัชเจ้ากรมพลังงานทหารพยานโจทก์ว่า กรมพลังงานทหารมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และ ณ ที่ก่อสร้างมีสำนักงานของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ปลูกสร้างอยู่ด้วยมีนายเชเดอซอมเฟลอรี่หัวหน้าหน่วยงานของบริษัทไปติดต่องานของบริษัทไปติดต่องาน และเมื่อนายเชเดอซอมเฟลอรี่กลับไปประเทศฝรั่งเศสแล้ว มีนายโดมินิคเลอนัวร์มาแทนก็ตาม ก็น่าจะเป็นเรื่องของผู้ดำเนินงานก่อสร้างไปติดต่อควบคุมงานก่อสร้างเพื่อให้ผลงานเป็นไปตามรูปแบบของสัญญาเท่านั้น และตามที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดเลยว่าสถานที่ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสาขาของบริษัทฯ นั้นได้เคยมีหนังสือติดต่อกันเป็นทางการกับผู้จ้างในกรณีใดๆ โดยสาขาเอง ทั้งนายเชเดอซอมเฟลอรี่และนายโดมินิคเลอนัวร์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ประจำสาขาในประเทศไทยนั้น พลโทวิรัชก็ว่าบุคคลดังกล่าวไม่เคยแสดงหลักฐานการเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ต่อพยานเลย อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า หากบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ถือว่าสถานที่อยู่ดังกล่าวเป็นตัวแทนสาขาประกอบการค้าในประเทศไทยแล้ว สาขานั้นก็จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตามที่กฎหมายบังคับไว้ เหตุนี้ การที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีสำนักงานไว้แต่ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับดังกล่าว จึงเชื่อว่าคงประสงค์เพียงจะใช้สถานที่นั้นเป็นสำนักงานเพื่อที่จะติดต่อเกี่ยวแก่การดำเนินงานของคนงานที่มาดำเนินงานก่อสร้าง มิใช่จะใช้สถานที่นั้นเป็นตัวแทนสาขาประกอบการค้าในประเทศไทย ตามพฤติการณ์ที่โจทก์ได้เป็นผู้เข้าเกี่ยวข้องหาเงินมาลงทุนรับจ้างก่อสร้างโดยโจทก์เองเป็นผู้กระทำการแทนดังกล่าว และโจทก์แต่ผู้เดียวมีอำนาจสั่งจ่ายเกี่ยวกับการเงินที่เปิดบัญชีไว้ แม้การรับเงินค่าจ้างที่จำต้องให้ธนาคารกรุงไทยรับเงินแทนก็เพราะเหตุที่กู้เงินจากธนาคารกรุงไทยไปใช้จ่ายในการก่อสร้าง เพื่อธนาคารจะได้หักกับเงินที่กู้ไปนั้นคืนเหตุผลเป็นเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีสาขาดำเนินการค้าในประเทศไทยเป็นของตนเองโดยโจทก์มิใช่ผู้ทำการแทน ที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันมาว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนในประเทศไทยของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ในการประกอบการค้ารับจ้างของสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหมนั้นชอบแล้วและโดยที่ประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ได้วิเคราะห์คำว่า “ผู้ประกอบการค้า” ไว้ว่า “ผู้ประกอบการค้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์การใดๆ ที่ประกอบหรือดำเนินการค้าในประเทศไทย ทั้งนี้ให้รวมถึงผู้ทำการแทนด้วย ฯลฯ เมื่อโจทก์เป็นผู้ทำการแทนผู้ประกอบการค้า โจทก์ย่อมมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าตาม มาตรา ๘๑ ยื่นรายการตาม มาตรา ๘๕ และเสียภาษีตามมาตรา ๗๙, ๘๔ และตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๑๔ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าตามกฎหมายฉบับก่อน (ฉบับที่ ๑๖) ยังต้องเสียภาษีการค้าตามกฎหมายฉบับนั้น เช่นนี้ เมื่อกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาหมาย จ.๔ และ จ.๘ อันได้ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามรายรับเงินค่าจ้างดังกล่าวนั้น
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บอกเลิกการเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๘ ตามเอกสารหมาย จ.๖ ก่อนที่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด มีรายรับ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี และแบบแจ้งประเมินฉบับแรกเอกสารหมาย จ.๒๑/๑ สำหรับรายรับประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓ ประเมินไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์บอกเลิกเป็นตัวแทนตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.๑๐ เท่านั้น ส่วนการเป็นตัวแทนตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.๑๒ มิได้บอกเลิก และโจทก์บอกเลิกเมื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมไปแล้วตามสัญญาประมาณ ๔ เดือน แต่เนื่องจากตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๕ กำหนดไว้ว่ากระทรวงกลาโหมจะจ่ายค่าจ้างงวดแรกให้แก่ผู้รับจ้างภายในเดือนที่ ๑๒ นับแต่วันที่กระทรวงกลาโหมผู้จ้างได้รับมอบงานที่จ้าง ซึ่งโจทก์ในฐานะตัวแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ย่อมรู้ข้อสัญญานี้ดี การที่โจทก์บอกเลิกเป็นตัวแทนในระยะนี้ย่อมเป็นข้อพิรุธ คือ เพื่อจะให้มีหลักฐานขึ้นว่าโจทก์ได้บอกเลิกเป็นตัวแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด แล้ว เพื่อให้โจทก์พ้นความรับผิดในฐานะเป็นผู้กระทำการประกอบการค้าซึ่งจะได้รับเงินค่าจ้างนั้น แต่ความจริงยังปรากฏว่า หลังจากที่โจทก์บอกเลิกการเป็นตัวแทนนี้แล้ว เงินซึ่งเป็นค่าจ้างตามสัญญา เอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๘ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด รับมาจากระทรวงกลาโหมก็ยังคงนำเข้าบัญชีทั้ง ๔ บัญชีที่โจทก์เปิดไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ซึ่งโจทก์แต่ผู้เดียวมีอำนาจสั่งจ่ายเงินตามบัญชีดังกล่าว หากเป็นความจริงว่าโจทก์ได้บอกเลิกเป็นตัวแทนแล้ว โจทก์ก็คงจะไม่เกี่ยวข้องกับการเงินของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด อีกดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔๔ เหตุนี้โจทก์จะอ้างหนังสือที่โจทก์บอกเลิกการเป็นตัวแทนของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ดังกล่าวเพื่อให้ฟังว่าโจทก์พ้นจากการเป็นตัวแทนผู้ประกอบการค้าของบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด และโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจึงรับฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาโจทก์ที่ว่าแบบแจ้งการประเมินฉบับแรกเอกสารหมาย จ.๒๑/๑ สำหรับรายรับประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓ ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เงินยอดนี้นอกจากโจทก์จะได้ให้ถ้อยคำในการสอบสวนที่เจ้าพนักงานประเมินได้สอบไว้ตามเอกสารหมาย จ.๓๒ แผ่นที่ ๔ ว่า กระทรวงกลาโหมได้จ่ายให้ธนาคารกรุงไทยเพื่อมอบให้แก่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด แล้ว ยังปรากฏข้อความตามเอกสารหมาย จ.๔๔ ที่กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้แจ้งให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบถึงเงินจำนวนนี้ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับเงินจำนวนนี้มาจากกระทรวงกลาโหมและธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้จ่ายเงินจำนวนนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ไปเป็นข้อยืนยันอีกด้วย ฉะนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่กู้จากธนาคาร ไม่ใช่เงินที่กระทรวงกลาโหมจ่ายให้บริษัทคอมเมนตรีอัวเซลจำกัด จึงรับฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การเสียอากรแสตมป์นั้น เมื่อบริษัท คอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เป็นผู้รับจ้าง บริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ต้องเป็นผู้เสียอากรแสตมป์ เพราะตามมาตรา ๑๐๔ ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้ทำการแทนผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่เสียเหมือนภาษีการค้า และที่ผู้ประกอบการค้าจะต้องเสียก็มีแต่ในมาตรา ๑๐๕ (๑) เฉพาะการรับเงินชำระราคา ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เป็นผู้รับจ้างโดยโจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญารับจ้างแทนและเป็นผู้ทำการแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด และการที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด ได้รับเงินค่าจ้างจากกระทรวงกลาโหมผู้จ้าง ก็เป็นการรับแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด โดยข้อสัญญาให้รับแทน แต่เงินนี้ก็คือเงินค่าจ้างทำของอยู่นั่นเอง ซึ่งจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ตามจำนวนเงินแห่งสินจ้างการรับเงินค่าจ้างของธนาคารเป็นการรับผ่านมือไปเพื่อมอบให้แก่ผู้รับจ้างคือบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด เมื่อโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทคอมเมนตรีอัวเซล จำกัด ในประเทศไทย โดยโจทก์เปิดบัญชีแทนผู้รับจ้างไว้กับธนาคาร เหตุนี้ การที่ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการแทนเสียค่าอากรแสตมป์ในเงินค่าจ้างที่รับไปนี้ ก็เสมือนเรียกค่าอากรแสตมป์จากผู้รับจ้าง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share