แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมในคราวเดียวกัน และด้วยเจตนาอย่างเดียวกัน คือเพื่อให้การบรรทุกไม้ของกลางของจำเลยรอดพ้นจากการจับกุมของเจ้าพนักงานนั้น เป็นความผิดกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดคนละกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกอีก ๔ คน (จำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๗๘๕/๒๕๑๘ ของศาลชั้นต้น และอีก ๒ คนซึ่งหลบหนี) บังอาจร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง กล่าวคือ
ก.จำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวบังอาจร่วมกันทำไม้โดยตัดฟันไม้ประดู่ซึ่งอยู่ในป่าในเขตท้องที่อำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๑๗ ท่อน ปริมาตร ๖๔.๐๗ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และร่วมกันมีไม้ดังกล่าวโดยมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครอง และร่วมกันนำไม้ดังกล่าวบรรทุกรถยนต์ ๔ คัน ไปตามถนนผ่านเข้าไปในเขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ โดยจำเลยกับพวกทำและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย
ข.จำเลยทั้งสี่กับพวกดังกล่าวบังอาจร่วมกันทำปลอมตราและรอยตราของรัฐบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายประกาศกำหนด โดยจำเลยกับพวกปลอมตราชักลากที่ “ช. ลาก ๑๒๖๒” ตราตรวจไม้ที่ “ต.๔๔๑๐” ตราตรวจไม้ที่ “ต.๓๙๓๒” และตราชำระค่าภาคหลวงที่ “ภล.๓๙๕” ทั้งนี้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นตราประทับไม้ที่แท้จริงของรัฐบาล และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้ แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกนำตราประทับไม้ทั้ง ๔ ตรา ดังกล่าวไปตีประทับลงไปที่ท่อนซุงไม้หวงห้ามทั้ง ๑๗ ท่องดังกล่าวในข้อ ก. อันเป็นการทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรและตัวเลข เพื่อแสดงลวงให้ปรากฏเสมือนว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำไม้ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม้ที่ปรากฏรอยตราประทับไม้ดังกล่าวผ่านการตีตราตรวจชักลากและการชำระค่าภาคหลวงโดยชอบแล้วและร่วมกันใช้รอยตราปลอมที่ประทับที่ท่อนซุงไม้ดังกล่าวแสดงแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจไม้หวงห้าม โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้ และกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นรอยตราประทับไม้ของรัฐบาลที่เจ้าพนักงานป่าไม้ประทับตรีตราไว้ที่แท้จริง
ค.จำเลยทั้งสี่กับพวกบังอาจร่วมกันปลอมใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่อันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับ รวม ๔ ฉบับ โดยกรอกข้อความปลอมและลงลายมือชื่อปลอมของนายชาญวุธ ศิริปาณี ป่าไม้อำเภอวาริชภูมิ ทำการแทนนายอำเภอ ในแบบพิมพ์ใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ มีใจความสำคัญว่าอนุญาตให้นายรุ่งเรือง จุลชาติ นำไม้ประดู่รวม ๑๗ ท่อน เคลื่อนที่ออกจากสนามไม้บ้านห้วยเหล็กไฟ ตำบลวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ไปยังโกดังไชยทอง ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยบรรทุกรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๒๕๘ น.ฐ.๐๓๓๕๑ น.ม.๐๓๖๖๐ และ อ.ด.๐๑๘๒๗ ไม้ ๑๗ ท่อนที่ปรากฏในใบเบิกทางดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำและมีไว้โดยผิดกฎหมายตามข้อ ก. และตีตราประทับไม้ปลอมไว้ตามข้อ ข. ความจริงนายชาญวุธไม่เคยอนุญาตออกใบเบิกทาง ๔ ฉบับดังกล่าวให้แก่นายรุ่งเรืองหรือจำเลยกับพวก ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้ และจำเลยกับพวกกระทำขึ้นเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นใบเบิกทางนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ อันเป็นเอกสารราชการที่นายชาญวุธป่าไม้อำเภอทำการแทนนายอำเภอวาริชภูมิออกให้ที่แท้จริง
ง.จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวในข้อ ข. และค. ไปอ้างและใช้ โดยเมื่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ นายสละและนายหวลนำไม้ประดู่หวงห้าม ๑๗ ท่อนบรรทุกมากับรถยนต์ดังกล่าวในข้อ ค. และรถพ่วง ๔ คัน จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกดังกล่าวอ้างแสดงใบเบิกทางปลอมและแสดงรอยตราประทับตราปลอมดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งขอตรวจค้นว่าเป็นไม้ที่จำเลยกับพวกได้รับอนุญาตให้ทำและให้นำเคลื่อนที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย และโดยการแสดงเอกสารปลอมดังกล่าวทำให้การขนส่งไม้ของจำเลยกับพวกได้รับความสะดวกรอดพ้นจากการจับกุมเรื่อยมาจนถึงเขตสุขาภิบาลอำเภอชุมแพ เจ้าหน้าที่ตำรวจอำเภอชุมแพขอตรวจไม้และใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกอ้างแสดงใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้ง ๔ ฉบับดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งได้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม้ดังกล่าวประทับตราไม้ของรัฐบาลโดยชอบแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกเป็นการใช้และอ้างใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่อันเป็นเอกสารราชการปลอม และอ้างรอยตราประทับไม้ปลอมที่ท่อนซุง ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและกรมป่าไม้
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๑๑, ๓๔, ๖๙, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๔, ๑๒, ๑๗, ๑๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๑, ๒๕๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๘ และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ กระทงหนึ่ง ให้จำคุกคนละ ๒ ปี ติดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๒ กระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๑ จำคุกคนละ ๓ ปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ กระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๖ (ที่ถูกเป็นมาตรา ๒๖๕) จำคุกคนละ ๒ ปี รวมจำคุกคนละ ๗ ปี ให้ริบของกลางทั้งหมด ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๗๘๕/๒๕๑๘ ข้อหานอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานใช้รอยตราเจ้าพนักงานและใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ที่ทำปลอมขึ้น ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ฐานใช้รอยตราเจ้าพนักงานที่ทำปลอมขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๒ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๕๑ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ คนละ ๓ ปี และให้คืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน อ.ด.๐๑๘๒๗ กับรถพ่วงไม่มีหมายเลขทะเบียนแก่จำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๔ ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ บังอาจร่วมกันมีไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. รวม ๑๗ ท่อน ซึ่งมีรอยตราประทับไม้ปลอมประทับอยู่ทุกท่อน ไว้ในป่าที่อยู่ในเขตอำเภอนากลาง จังหวัดอุดรธานี แล้วนำไม้ดังกล่าวบรรทุกรถยนต์ ๔ คันตามฟ้องเพื่อนำไปขายที่กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ ๒ กับพวกให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๗๘๕/๒๕๑๘ ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคนละคันพร้อมกับมอบใบเบิกทางปลอม ๔ ฉบับตามฟ้องให้ด้วย เพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกแสดงต่อเจ้าพนักงานซึ่งขอตรวจ ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่ารอยตราประทับไม้ที่ประทับไม้ประดู่หวงห้ามทั้ง ๑๗ ท่อนเป็นรอยตราปลอม และใบเบิกทาง ๘ ฉบับดังกล่าวเป็นใบเบิกทางปลอม เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกดังกล่าวขับรถยนต์บรรทุกไม้ผ่านด่านป่าไม้ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกได้แสดงรอยตราประทับไม้ปลอมและใบเบิกทางปลอมดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพ ซึ่งขอตรวจว่าเป็นไม้ประดู่หวงห้ามที่ได้รับอนุญาตให้ทำและให้นำเคลื่อนที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับพวกไม่ทราบว่าเป็นรอยตราประทับไม้ปลอมและใบเบิกทางปลอม
ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมจริง
ส่วนปัญหาที่ว่าการใช้รอยตราปลอมและการใช้ใบเบิกทางปลอมเป็นความผิดคนละกรรมหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ร่วมกันใช้รอยตราปลอมและใช้ใบเบิกทางปลอมในคราวเดียวกันและด้วยเจตนาอย่างเดียวกันคือเพื่อให้การบรรทุกไม้ของกลางของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ รอดพ้นจากการจับกุมของเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นความผิดคนละกรรม
พิพากษายืน