แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะตองรับผิดชอบสำหรับวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้น
โจทก์ฟ้องว่า จ.ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ซ่อมแซมความเสียหายแล้ว จึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งรับประกันค้ำจุนรถคันที่ชนร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า ก. เป็นผู้เอาประกันภัยรถคันที่ชนไว้กับจำเลยที่ 2 มิใช่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกัน ส่วนจ. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างของ ก.ด้วย ทั้งโจทก์ก็มิได้สืบนำสืบว่า ก.มีส่วนจะต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นอย่างไร การที่ ก. เป็นแต่เพียงผู้เอาประกันภัยจะถือว่า ก. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในวินาศภัยที่เกิดขึ้นด้วยไม่ได้ เมื่อ ก. ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิด ที่จะก่อให้เกิดขึ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลรับประกันภัยรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๑๙๗๔ ไว้จากนายสมพร เจียรพร จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ และเป็นนายจ้างของนายจันทร์ โคมีศิลป์ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ ไว้จากจำเลยที่ ๑ เป็นการรับประกันภัยแบบรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายแก่บุคคลภายนอก เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๖ นายจันทร์ โคมีศิลป์ลูกจ้างในขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฑ.๑๙๗๔ เสียหาย โจทก์ได้จัดการซ่อมแล้ว จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยรับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ ไว้จากจำเลยที่ ๑ และนายจันทร์ โคมิศิลป์ ขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตให้ขับขี่ ผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย นายสมชาย เจียรพร ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฑ.๑๙๗๔ ขับรถยนต์โดยประมาท แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะเกิดเหตุ นายจันทร์ โคมีศิลป์ หรือโตมีศิลป์ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ค้นหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ โดยประมาทชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฑ.๑๙๗๔ ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์จ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์คันที่รับประกันภัยไปแล้ว นางสาวแก้วตา พึ่งกุศล เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ ไว้กับจำเลยที่ ๒ ประเภทสัญญาประกันภัยค้ำจุน ปรากฏตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๑๗ สัญญาประกันภัยยังไม่สิ้นอายุ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๘๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า”อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้สินไหมทดแทนในนามของผุ้เอาประกัน เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฬ.๐๑๐๙ กับจำเลยที่ ๒ นายจันทร์ โคมีศิลป์หรือโตมีศิลป์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างของนางสาวแก้วตา พึ่งกุศล ผู้เอาประกันภัยด้วย จำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยของนางสาวแก้วตา พึ่งกุศล ผู้เอาประกันภัยด้วย จำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยจะรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ต่อเมื่อวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้นนางสาวแก้วตา พึ่งกุศล ผู้เอาประกันภัยมีส่วนจะต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นผู้เอาประกันภัย จะถือว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบในวินาศภัยที่เกิดขึ้นด้วยหาได้ไม่ ดังนั้นนางสาวแก้วตา พึ่งกุศล ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิดที่นายจันทร์ โคมีศิลป์ หรือโตมีศิลป์ก่อให้เกิดขึ้น เมื่อนางสาวแก้วตา พึ่งกุศลผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเช่นกัน ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่านายจันทร์ โคมีศิลป์หรือโตมีศิลป์ขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ ผิดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์