คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาให้โจทก์รับทำการขายส่งสุราประเภทเสียภาษีรายเท ของโรงงานสุรา องค์การสุราของจำเลย ถ้าเดือนใดโจทก์เสียค่าภาษีต่ำกว่าเดือนละ 5,499 เท โจทก์จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบจำนวนที่กำหนดไว้นั้น โดยโจทก์ต้องนำเงินค่าปรับไปชำระแก่จำเลยภายในวันที่ 22 ของเดือนถัดไป แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระค่าปรับหลังจากวันที่ 22 ของเดือนถัดไป จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละข้อสัญญาดังกล่าวเสียแล้ว ดังนั้นการที่โจทก์ชำระค่าปรับคลาดเคลื่อนไปจากเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหาได้ไม่ เมื่อฟังได้ว่าจำเลยผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ภายในวันที่ 28 ของเดือน ถัดไปอีก 2 เดือนจำเลยก็จะเรียกให้ชำระค่าปรับสำหรับเดือนพฤษภาคม 2509 ก่อนวันที่ 28 กรกฎาคม 2509 ไม่ได้ อย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยมิได้ถือเอาการที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าปรับในวันที่ 28 ตามที่กำหนดกันใหม่ มาเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่คงยึดเอาข้อกำหนดในที่ประชุมกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2509 เป็นหลักว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญา เพราะไม่ปฏิบัติรับทราบข้อกำหนดใหม่ในที่ประชุมเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาตามข้อกำหนดในที่ประชุมนั้น การที่จำเลยถือเอาเหตุนี้มาบอกเลิกสัญญากับโจทก์จึงเป็นการไม่ควร เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการเลิกสัญญาประการใด จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์นัดว่าจำเลยทำสัญญาให้โจทก์รับทำการขายส่งสุราประเภทเสียภาษีรายเทของโรงงานสุรา องค์การสุราของจำเลย ได้มีข้อกำหนดว่าถ้าเดือนใดโจทก์เสียค่าภาษีต่ำกว่าเดือนละ ๕,๔๙๙ เท โจทก์จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบจำนวนที่กำหนดไว้นั้น โดยโจทก์ต้องนำเงินค่าปรับไปชำระแก่จำเลยภายในวันที่ ๒๒ ของเดือนถัดไป แต่ต่อมาจำเลยยอมผ่อนเวลาให้ชำระค่าปรับ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๐๘ เป็นต้นไป ภายในวันที่ ๒๘ ของเดือน ถัดไปอีก ๒ เดือน แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์บังคับให้โจทก์ชำระเงินก่อนถึงกำหนดที่เปลี่ยนแปลงใหม่ดังกล่าว และบอกเลิกสัญญากับโจทก์ก่อนถึงกำหนดที่ตกลงกัน ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๔,๙๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยยินยอมให้โจทก์ยึดเวลาชำระเงินค่าปรับ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
คดีที่สองจำเลยในสำนวนแรกมาเป็นโจทก์ ฟ้องโจทก์สำนวนแรกเป็นจำเลยที่ ๑ และบริษัทสหธนาคารกรุงเทพเป็นจำเลยที่ ๒ ว่าจำเลยที่ ๑ ประพฤติผิดสัญญาโดยชำระค่าภาษีสุราต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นเงิน ๑,๓๑๔,๖๑๔บาท ๔๐ สตางค์ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินดังกล่าว และจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิด ๗๓๙,๐๖๕ บาท ๖๐ สตางค์ เท่าที่ค้ำประกัน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาไม่ชำระค่าปรับดังที่โจทก์อ้าง แต่ถ้าศาลเห็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามฟ้องก็ขอให้หักกลบลบหนี้กับคดีสำนวนแรก
จำเลยที่ ๒ ให้การว่ายังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยที่ ๒ จึงยังไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแรก โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้อง
ในการรวมพิจารณาศาลฎีกาให้เรียกจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในสำนวนคดีหรือเป็นโจทก์ที่ ๑ หรือที่ ๒ ตามลำดับ และเรียกโจทก์คดีแรกเป็นจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๓,๘๐๐,๖๘๘บาท ๘๐ สตางค์ กับดอกเบี้ยและยกฟ้องในสำนวนคดีหลัง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑,๑๖๙,๓๓๑บาท ๒๐ สตางค์ ให้โจทก์ที่ ๒ รับผิด ๗๓๙,๐๖๔บาท ๖๐สตางค์ เท่าที่ค้ำประกันพร้อมทั้งดอกเบี้ย และฟ้องสำนวนคดีแรก
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองในชั้นต้นว่า จำเลยได้ตกลงผ่อนเวลาชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ที่ ๑ หรือไม่ ซึ่งโจทก์และจำเลยนำสืบโต้เถียงกันอยู่ เมื่อได้พิเคราะห์ถึงกรณีความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โรงงานสุราของจำเลย ซึ่งปล่อยให้น้ำที่บรรจุไว้ในถึงข้างเคียงรั่วมาปนกับน้ำสุราที่บรรจุอยู่ ทำให้โจทก์ที่ ๑ ถูกจับและหนังสือพิมพ์ลงโฆษณาการจับกุมโจทก์ที่ ๑ ว่าเอาสุราผสมน้ำขาย ทำให้โจทก์ที่ ๑ เสียหาย ประกอบกับก่อนเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นเดือนก่อนที่โจทก์ที่ ๑ ถูกจับฐานมีน้ำสุราปนน้ำ โจทก์ที่ ๑ ก็ไม่ได้ชำระค่าปรับตามกำหนดนั้น คือค่าปรับเดือนสิงหาคม ๒๕๑๘ ชำระวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๐๘ และค่าปรับเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ๒๕๐๘ โจทก์ที่ ๑ ก็ยังไม่ได้ชำระ พฤติการณ์ส่อสมไปตามที่โจทก์นำสืบว่า ได้มีการตกลงกันด้วยว่าให้รอฟังคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน ส่วนค่าปรับเดือนธันวาคม ๒๕๐๘ และเดือนต่อไปโจทก์ที่ ๑ ก็ได้ชำระภายในวันที่๒๘ ของเดือนถัดไปอีก ๒ เดือน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๖ถึง จ.๑๑ การที่กรมสรรพสามิตจำเลยชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ที่ ๑ ดังที่โจทก์นำสืบ อย่างไรก็ดีแม้ตามสัญญาข้อ ๒.๑ จะได้ระบุให้ชำระค่าปรับกรณีเสียภาษีสุราต่ำกว่าจำนวนโควต้าน้ำสุราที่กำหนดไว้ภายในวันที่ ๒๒ ของเดือนถัดไปก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ตกลงยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ที่ ๑ชำระค่าปรับหลังจากวันที่ ๒๒ ของเดือนถัดไปเช่นนี้แล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยได้สละสัญญาข้อ ๒.๑ เสียแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ที่ ๑ จะได้ชำระค่าปรับคลาดเคลื่อนไปจากเวลาทีกำหนดไว้ในสัญญาเดิม จึงถือว่าโจทก์ที่ ๑ ผิดสัญญาหาได้ไม่ และการชำระค่าหรับสำหรับเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นเหตุพิพาทกันในคดีนี้จำเลยก็จะเรียกให้โจทก์ที่ ๑ ชำระก่อนวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ไม่ได้ คดีจะถือว่าโจทก์ที่ ๑ ผิดสัญญาได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับภายในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๙ นั้น สำหรับกรณีเกี่ยวกับการชำระค่าปรับภายในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๙ นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ ๑ ได้นำเงินค่าปรับประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙ ไปชำระให้แก่จำเลยที่แผนกรับเงินกองสุรา กรมสรรพสามิต ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๙ แล้ว แต่เจ้าหน้าที่รับเงินของจำเลยไม่อยู่ โดยไปช่วยงานศพมารดานายจรูญ ประกาศสุธการ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงไม่มีเจ้าหน้าที่รับเงินไว้ในวันนั้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำ อย่างไรก็ดีวันรุ่งขึ้นโจทก์ที่ ๑ ก็ยังได้นำเงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเงินสดไปชำระอีก นายสายหัวหน้ากองสุรายอมออกใบนำส่งเช็คให้เพื่อให้เอาเช็คไปมอบให้แก่กองคลัง ก็พอดีโจทก์ที่ ๑ ทราบว่าจำเลยได้เสนอขอเลิกสัญญาไปยังกระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นความจริง โจทก์ที่ ๑ เห็นว่าจำเลยทำไม่ถูก จึงเอาเช็คและใบนำส่งกลับคืนมา แล้วร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกระทรงการคลังทันทีว่า จำเลยขอเลิกสัญญากับโจทก์ก่อนกำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้รับพิจารณาคำร้องของโจทก์ที่ ๑ ด้วยดี ดังนี้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ ๑ ดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงจึงเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะชำระค่าปรับนั้นแก่จำเลยโดยสุจริต ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงผ่อนผันกันใหม่ มิได้จงใจผิดสัญญาไม่ชำระค่าปรับแต่อย่างใด และหาใช่เป็นการเพทุบายของโจทก์ที่ ๑ ที่ไม่ประสงค์จะชำระค่าปรับดังจำเลยกล่าวอ้างและนำสืบไม่ ตรงข้ามการที่จำเลยรายงานกระทรวงการคลังเพื่อขอเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ ก่อนวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระนั้นกลับเป็นการแสดงว่ามีการกลั่นแกล้งจะเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ สนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีสาเหตุกับโจทก์ที่ ๑ จริงดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้โจทก์ยับยั้งการชำระเงินค่าปรับไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อฟังผลที่โจทก์ที่ ๑ ร้องเรียนไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งในที่สุดเป็นผลให้รายงนของจำเลยในครั้งนั้นไม่ได้รับอนุมัติ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้นัดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ การชำระค่าปรับที่ต้องขลุกขลักติดค้างนั้นเห็นได้ว่า เกิดจากความผิดของจำเลยเอง เพราะถ้าจำเลยไม่รายงานขอเลิกสัญญาไปยังกระทรงการคลัง เหตุยับยั้งไม่ชำระค่าปรับย่อมไม่เกิด และเป็นที่แน่ว่าจำเลยจะได้รับค่าปรับตามข้อตกลงผ่อนผันกันใหม่นั้นอย่างไม่มีปัญหา อย่างไรก็ดี แม้โจทก์ที่ ๑ จะยังไม่ได้ชำระค่าปรับในวันที่ ๒๘ ตามที่กำหนดกันใหม่ จำเลยก็มิได้ถือเอาเหตุอันนี้มาเป็นข้อสำคัญในการบอกเลิกสัญญากับโจทก์ตามฟ้องของจำเลยแต่อย่างใด จำเลยคงยึดเอาข้อกำหนดในที่ประชุมของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ เป็นหลักการสำคัญในการฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ ประพฤติผิดสัญญา โดยจำเลยได้อ้างว่าได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๙ เพราะโจทก์ที่ ๑ไม่ปฏิบัติการชำระค่าปรับตามข้อกำหนดในที่ประชุมของกระทรวงการคลัง ปัญหาตามฟ้องของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์ที่ ๑ และจำเลยต่างนำสืบโต้เถียงกันว่า โจทก์ที่ ๑ ได้รับทราบข้อกำหนดและเงื่อนไขในการชำระค่าปรับก่อนที่จะมีการบอกเลิกสัญญากันแล้วหรือยัง โดยจำเลยนำสืบว่าในวันนัดประชุมที่ประทรวงการคลังเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ นั้น โจทก์ได้เข้าประชุมด้วย แต่โจทก์นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าประชุม และไม่เคยรับทราบผลการประชุมข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏตามบันทึกรายงานการประชุมตามเอกสารหมายล.๓๐ ว่า มีผู้เข้าประชุมรวม ๔ คน คือ ๑. นายเสริม วินิจฉัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ๒. นายบุญมา วงศ์สวรรค์ ปลัดกระทรวงการคลัง ๓. ม.ร.ว.ทันพงษ์ กฤดากร อธิบดีกรมสรรพสามิต ๔. นายสาย รัตนสมบัติ หัวหน้ากองการสุรา ที่ประชุมได้มีมติให้โจทก์ปฏิบัติการดังนี้
๑. ให้นำเงินค่าปรับงวดเดือนมิถุนายน ๒๕๐๙ เป็นเงิน ๑๙๒,๗๕๕ บาท ๒๐ สตางค์ พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี และค่าปรับงวดเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๙ เป็นเงิน ๑๙๓,๕๕๕ บาท ๒๐ สตางค์ มาชำระภายในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๐๙ ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ก็ให้บอกเลิกสัญญา
๒. เมื่อปฏิบัติตามข้อ ๑. แล้ว ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๙ บริษัทฯจะต้องหาธนาคารมาค้ำประกันเงินค่าปรับที่ค้างเก่างวดเดือนกันยายน ๒๕๐๘ จำนวน ๒๐๗,๙๕๕ บาท ๒๐ สตางค์ ตุลาคม ๒๕๐๘ จำนวน ๑๙๘,๓๕๕ บาท ๒๐ สตางค์ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ จำนวน ๑๙๘,๓๕๕ บาท ๒๐ สตางค์ และพฤษภาคม ๒๕๐๙ จำนวน ๑๗๘,๓๕๕ บาท ๒๐ สตางค์ รวมเดือนเป็นเงิน ๗๘๓,๐๒๐ บาท ๘๐ สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี จากวันถึงกำหนดชำระของแต่ละจำนวน ส่วนแบบหนังสือค้ำประกันให้ใช้ตามแบบที่กรมสรรพาสามิตกำหนดถ้าไม่จัดให้ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันก็ให้บอกเลิกสัญญา
๓. เงินค่าปรับและดอกเบี้ยตามข้อ ๒ บริษัทฯ จะต้องชำระให้กรมสรรพากรภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๐๙ ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ก็ให้บอกเลิกสัญญา
ศาลฎีกาพิจารณาปัญหาข้อนี้แล้วเห็นว่า หากนายจำรัส ตันติวณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ ๑ ได้เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ ด้วยจริง บันทึกตามเอกสารหมาย จ.๓๐ ก็น่าจะจดลงไว้ตรงหัวข้อผู้เข้าประชุมว่า มีนายจำรัส ตันติวณิชย์ ด้วยอีกผู้หนึ่งเป็นคนที่ ๕ ไม่น่าจะจดว่าผู้เข้าประชุมมีเพียง ๔ คน โดยไม่ระบุเชื่อนายจำรัส ตันติวณิชย์ลงไว้เมื่อผู้เข้าประชุมคนอื่น และเห็นว่าเป็นการผิดวิสัยที่ทางราชการจะเชิญให้นายจำรัส ตันติวณิชย์ ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเกี่ยวกับการชำระค่าปรับเข้าร่วมนั่งประชุมฟังการถกเถียงด้วยเพราะเป็นเรื่องราชการโดยตรง ไม่น่าจะยอมให้นายจำรัส ตันติวณิชย์ มีส่วนได้ถกเถียงว่าควรจะให้ตนชำระค่าปรับอย่างไร ในบันทึกการประชุมเอกสารหมาย ล.๓๐ ก็ไม่มีลายมือชื่อนายจำรัส ตันติวณิชย์ เซ็นรับรองความถูกต้องหรือรับทราบข้อกำหนด ยิ่งกว่านั้นพยานจำเลยยังเบิกความเจือสมเป็นประโยชน์แก่โจทก์อีก คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเบิกความว่าการประชุมในวันนั้นเป็นการประชุมเฉพาะกรมสรรพสามิตกับกระทรวงการคลัง ไม่เคยที่จะเรียกคู่สัญญามาวางเงื่อนไข เป็นเรื่องขอเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ และอธิบดีกรมสรรพสามิตเบิกความว่าในการประชุมของทางราชการ ผู้มีส่วนได้เสียจะเข้าประชุมด้วยไม่ นอกจากนี้พยานจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์ที่ ๑ ได้รับทราบมติที่ประชุมอย่างไรก็เบิกความแตกต่างขัดกันในสาระสำคัญ เช่นอธิบดีกรมสรรพสามิต เบิกความที่ประชุมลงมติเสร็จการประชุมแล้วจึงเรียกนายจำรัสเข้าไป แล้วแจ้งมติที่ประชุมให้นายจำรัสทราบและปฏิบัติ แต่ปลัดกระทรวงการคลังเบิกความว่า เริ่มการประชุมมีผู้เข้าประชุม ๖ คน ได้มีการซักไซ้ไล่เลี้ยงกันก่อนแล้วจึงเขียนเงื่อนไขผู้ถูกซักไซ้ คือนายจำรัสกับอธิบดีกรมสรรพสามิต และหัวหน้ากองการสุรา นายจำรัสกลับพร้อมกับคนอื่น ๆ ภายหลังเลิกประชุมแล้วแสดงว่านายจำรัสเข้าประชุมด้วยตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนหัวหน้ากองการสุรากลับเบิกความว่า นายจำรัสกับนายมนตรีเดินตามรัฐมนตรีเข้าไปในห้องประชุม รัฐมนตรีพูดทักทายและพูดกับคนทั้งสองอยู่ราว ๑๕ นาทีก็ลากลับออกจากห้องประชุมไปทั้งสองคน แต่อธิบดีกรมสรรพสามิตว่าใช้เวลาในการประชุมจนเสร็จประมาณ ๔๕ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง พยานจำเลยตอนนี้เบิกความแตกต่างกันและขัดกันเองถึงเพียงนี้ แล้วจะให้ศาลรับฟังว่านายจำรัส ตันติวณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ ๑ ให้รับทราบเงื่อนไขให้ชำระเงินค่าปรับ ถ้าไม่ปฏิบัติตามนั้น กระทรงการคลังก็ให้กรมสรรพสามิตเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ ได้อย่างไร อนึ่ง นายจรูญ ประกาศสุขการ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตพยานจำเลยยังเบิกความอีกว่า การสั่งให้ผู้ขายส่งสุราปฏิบัติการหากไม่ปฏิบัติจะถูกเลิกสัญญานั้น เป็นเรื่องสำคัญมากตามระเบียบของกรมจะต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานแสดงว่าผู้รับได้รับหนังสือนั้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเท่าที่จำเลยนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ ๑ ได้ทราบข้อกำหนดในการประชุม ๓ ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว ตรงกันข้ามรูปคดีน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า วันประชุมนายจำรัสและนายมนตรีพยานโจทก์ได้ไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย เพราะจุดประสงค์ในการไปก็เพื่อจะขอทราบเรื่องที่ร้องเรียนไว้มากกว่า ซึ่งพอนายจำรัสกับพวกทราบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่ากำลังจะประชุมกันในวันนั้นก็พากันกลับ จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๙ โจทก์ที่ ๑ จึงได้รับโทรเลขจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ขอเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๙ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้รับทราบข้อกำหนด ๓ ข้อมาก่อนเลย และการบอกเลิกสัญญานั้น โจทก์ก็ได้รับทราบเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้โจทก์ชำระค่าปรับคือในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๐๙ ตามข้อกำหนดข้อ ๑ เสียแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ผิดสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ จึงเป็นการไม่ชอบ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการเลิกสัญญาประการใด จำเลยย่อมต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เรื่องค่าเสียหายของโจทก์นั้น โจทก์เรียกค่าเสียหายแบ่งออกเป็นสองตอนคือ นับแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นเดือนที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ จนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๑๑ (น่าจะเป็นเดือนตุลาคม ๒๕๑๑) ตอนหนึ่ง และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งอายุสัญญาอีกตอนหนึ่ง โดยโจทก์ที่ ๑ นำสืบว่า แม้โจทก์จะได้ประมูลจำนวนโคว้าน้ำสุราถึง ๕,๕๙๙ เท ต่อเดือน และถูกปรับเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบจำนวนที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่โจทก์ที่ ๑ ก็มิได้ขาดทุนหากแต่ยังได้กำไร ทั้งนี้เพราะโจทก์ที่ ๑ ได้ขายส่งน้ำสุราแก่ร้านสาขาตามอำเภอในท้องที่ ๗ อำเภอเป็นน้ำสุรา ๒,๕๐๐ เทต่อเดือน ซึ่งถ้าร้านสาขาจำหน่ายน้ำสุราไม่ครบกำหนดที่ตกลงกัน ก็จะต้องเสียค่าปรับให้แก่โจทก์ที่ ๑ เทละ ๘๐ บาท ต้นทุนค่าน้ำสุราที่โจทก์ที่ ๑ ซื้อมารวมกับค่าภาษีตกเทละ ๑๐๙ บาท ๘๐ สตางค์ โจทก์ขายส่งแก่ร้านสาขาจำหน่ายสุราเทละ ๒๐๐ บาท โจทก์ที่ได้ ๑ ได้กำไรจากการขายส่งแก่ร้านสาขาเทละ ๙๐ บาท กำไรที่ได้เป็นรายเทค่าปรับจากร้านสาขา เมื่อหักค่าภาษีรายเทออกเฉลี่ยแล้วจะได้กำไรเดือนละ ๕๑,๐๐๐ บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายของบริษัทแล้ว โจทก์ที่ ๑ จะได้กำไรสุทธิประมาณเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท คิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๐๙ จะเป็นกำไรทั้งหมดประมาณ ๖ แสนบาทเศษ สำหรับค่าเสียหายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญา โจทก์ที่ ๑ นำสืบว่าตามปกติการค้าสุราในระยะ ๕ ปีที่ประมูลได้ ปีสุดท้ายจะเป็นปีที่ได้กำไรมากที่สุด โดยวิธีกักทุนสุราไว้ให้เต็มจำนวนโควต้าที่ประมูลไว้ เพราะเมื่อผู้อื่นประมูลการขายส่งสุราครั้งต่อไปได้จะต้องซื้อสุราที่ผู้ขายส่งคนก่อนซื้อไว้ หากไม่ซื้อผู้ขายส่งคนก่อนก็มีสิทธิสุราของตนได้เองจนหมด กล่าวคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ รวม ๑๔ เดือน โจทก์ที่ ๑ จะซื้อน้ำสุราครบจำนวนโควต้าเดือนละ ๕,๔๙๙ เท จะเป็นน้ำสุรา ๗,๖๐๐ กว่าเท ราคาต้นทุนทั้งน้ำสุราและภาษีเทละ ๑๐๙ บาท ๘๐ สตางค์ ขายเทละ ๒๐๐ บาท จะได้กำไรเทละ ๙๐บาท ๒๐ สตางค์ จึงรวมเป็นกำไร ๖ ล้าน ๙ แสนบาทเศษ ความข้อนี้พยานจำเลยก็รับรองว่าเป็นวิธีปฏิบัติในการค้าสุราซึ่งมีการกักตุนสุราไว้ขายในปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาจริง ทั้งสถิติการซื้อสุราของผู้ขายส่งสุราปีสุดท้ายตามเอกสารที่โจทก์ที่ ๑ อ้างศาลหมาย จ.๑๘ ถึง จ.๒๑ เห็นได้ว่ามีการซื้อสุราเป็นจำนวนหลายหมื่นเท ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว สำหรับกรณีของโจทก์นี้ หากจำเลยไม่บอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๑ ยังคงดำเนินการต่อไปจนถึงปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาโจทก์ที่ ๑ ย่อมจะกักตุนน้ำสุราไว้ขายเองกำไรเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเลิกค้าสุรากับจำเลยโดยไม่ต้องสงสัย สรุปแล้วตามที่โจทก์ที่ ๑ ก่อนระยะเวลาทีกำหนดไว้ในสัญญาแล้ว โจทก์ที่ ๑ น่าจะได้กำไรมีจำนวนใกล้เคียงกับที่โจทก์ที่ ๑ นำสืบได้ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้เหตุผลอย่างอื่นไว้โดยละเอียดอีกด้วย เห็นว่าไม่ต้องกล่าวซ้ำ จำเลยนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ประกอบกับเมื่อจำเลยเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ แล้วเปิดประมูลใหม่ ซึ่งในครั้งนี้โจทก์ที่ ๑ ไม่มีสิทธิประมูล ผู้ประมูลได้คนใหม่ก็กำหนดโควต้าถึงเดือนละ ๕,๓๓๓ เทใกล้เคียงกับที่โจทก์ที่ ๑ ประมูลไว้เดิม ทั้งที่เหลือเวลาน้อยลงแล้ว แสดงว่าการขายส่งสุราของโจทก์ที่ ๑ ต้องมีกำไรแน่จึงเป็นความเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ ๑ แต่คดีนี้โจทก์ที่ ๑ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๙๗๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น อย่างไรก็ดีศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกักตุนสุราไว้ขาย โจทก์ที่ ๑ จะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก และหากผู้ขายส่งที่ประมูลได้ใหม่ไม่รับซื้อน้ำสุราที่กักตุนไว้หมด ก็จะต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเหมือนกัน เมื่อคำนวณโดยถี่ถ้วนแล้ว เห็นควรให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ รวมเป็นเงิน ๓ ล้านบาท เมื่อคิดหักกลบลบหนี้กับเงินค่าปรับที่ โจทก์ที่ ๑ ยังไม่ได้ชำระแก่จำเลยอยู่รวมเป็นเงิน ๑,๑๖๙,๓๓๑ บาท ๒๐ สตางค์ ออกแล้วจำเลยจึงต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ ๑ อีกเป็นเงิน ๑,๘๓๐,๖๖๘ บาท ๘๐ สตางค์ (หนึ่งล้านแปดแสนสามหมื่นบาทหกร้อยหกสิบแปดบาทแปดสิบสตางค์) ส่วนโจทก์ที่ ๒ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย เพราะโจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ผิดสัญญา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ยอดเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ ให้แก้เป็นจำนวนหนึ่งล้านแปดแสนสามหมื่นหกร้อยหกสิบแปดบาทแปดสิบสตางค์ ตามที่กำหนดใหม่

Share