คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 871/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวดูหมิ่นผู้ตายต่อหน้าบุคคลอื่นขึ้นก่อนวันลักวัว และห้ามมิให้จำเลยลักวัวพวกจำเลยอีก การที่ผู้ตายกล่าวได้ตอบเพื่อแก้หน้าขึ้นบ้าง “มึงห้ามกูก็ไม่ฟัง แต่น้องสาวมึง กูก็จะเย็ดอยู่” จึงเป็นการโต้ตอบเพื่อล้างความอายและถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยซึ่งมีน้องสาวโกรธขึ้นมา จึงฟันผู้ตายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1277/2487)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ขวานฟันนายล้วน แก้วคราม ๑ ที โดยเจตนาฆ่า นายล้วนถึงแก่กรรมในวันเกิดเหตุนั้นเอง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยฟันผู้ตายโดยบันดาลโทสะ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ จำคุก ๓ ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าความผิดของจำเลยไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ จำคุก ๑๙ ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุกจำเลยไว้ ๑๐ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเคยลักวัวของพี่ชายจำเลยไป ๑ ตัว แต่ได้นำมาคืนและชดใช้เงินให้ ต่อมา ๕-๖ เดือนคือวันเกิดเหตุ ผู้ตาย จำเลยและพวกชาวบ้านหลายคนกลับจากไปช่วยนายก้อยทำไร่ ได้มานั่งคุยกันบนแคร่หน้าบ้านนายก้อย ขณะที่คุยกันจำเลยถามผู้ตายว่าลักวัวไปจริงไหม ผู้ตายว่า “ใช่ ลักวัวสู จะมีอะไร” จำเลยว่า “ทีหลังอย่าลักวัวพวกข้า” ผู้ตายก็ว่า “มึงห้ามกูก็ไม่ฟัง แต่น้องสาวมึงกูก็จะเย็ดอยู่” จำเลยมีน้องสาวโกรธขึ้นมาจึงใช้ขวานฟันผู้ตาย ๑ ที ผู้ตายถึงแก่กรรมตายทันที
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อนโดยได้กล่าวดูหมิ่นผู้ตายขึ้นก่อนว่าลักวัว ต่อหน้าบุคคลอื่น ๆ หลายคน ลักษณะเป็นการประจานผู้ตายและทำให้ผู้ตายได้รับความอับอายโดยไม่มีความชอบธรรมที่จะกล่าวเช่นนั้น เนื่องจากวัวที่ถูกลักไม่ใช่ของจำเลยและเจ้าของวัวที่แท้จริงก็ได้วัวคืนกับได้ค่าเสียหายจากผู้ตายอีก ๔๐๐ บาทด้วย ฉะนั้นการที่ผู้ตายกล่าวโต้ตอบเพื่อแก้หน้าขึ้นบ้างว่า “แต่น้องสาวมึงกูก็จะเย็ดอยู่” จึงเป็นการโต้ตอบเพื่อล้างความอาย และถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ความผิดของจำเลยจึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ และ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๗/๒๔๙๗
พิพากษายืน

Share