แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และพยานโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียวทนายจำเลยมาศาล แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคสองและวรรคสามโดยเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้วก็นัดฟังคำพิพากษาเลยทีเดียว โดยมิได้วินิจฉัยว่าการขาดนัดของจำเลยเป็นไปโดยจงใจหรือไม่เสียก่อนจนเป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้สืบพยานของตนและแพ้คดี อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2), 247พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคสองและวรรคสามโดยให้วินิจฉัยว่าการขาดนัดของจำเลยเป็นไปโดยจงใจหรือไม่แล้วมีคำสั่งหรือดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายจ้างของนายเกษม และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ก.จ.๐๕๘๒๕ นายเกษมได้ขับรถยนต์คันนี้บรรทุกแร่จากจังหวัดเพชรบุรีไปยังที่เก็บแร่ที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเมืองฯจังหวัดราชบุรี ในทางการที่จ้างของจำเลยด้วยความประมาทชนเสาไฟฟ้าข้างถนนของโจทก์เสียหาย ๑ ต้น ขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยมิใช่นายจ้างของนายเกษม และขณะเกิดเหตุนายเกษมก็มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลย ฯลฯ
ศาลชั้นต้นชี้สองสถาน และได้กำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนนัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๑๕ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ตกลงกันเลื่อนวันสืบพยานโจทก์ไปวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๕เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ครั้นถึงวันนัด โจทก์และพยานโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและนำพยานโจทก์เข้าสืบ ในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายเดียวโดยสืบพยานโจทก์ปากแรก ทนายจำเลยมาศาลและขอซักค้านพยานโจทก์ศาลสืบพยานโจทก์ได้ ๒ ปากแล้วโจทก์แถลงว่าติดใจสืบเท่านี้ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๑๕ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา
จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านว่า การที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาไปโดยที่ไม่ให้โอกาสจำเลยนำพยานของตนเข้าสืบนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายการขาดนัดของทนายจำเลย มิได้เป็นไปโดยจงใจ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๕,๐๐๐ บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
คดีมีปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยว่า การพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๕ วรรค ๒ และวรรค ๓จะเห็นได้ว่าวรรค ๒ และวรรค ๓ ต่างกันที่การขาดนัดเป็นไปโดยจงใจหรือไม่ ถ้าไม่จงใจศาลก็ต้องปฏิบัติตามวรรค ๒ ถ้าจงใจก็ปฏิบัติตามวรรค ๓และศาลจะต้องวินิจฉัยว่าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่ ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยว่า การขาดนัดของจำเลยเป็นไปโดยจงใจหรือไม่ ถ้าไม่จงใจ ศาลต้องพิจารณาคดีใหม่ตั้งแต่เวลาที่ขาดนัด ถ้าจงใจก็ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไป โดยจำเลยมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์นับตั้งแต่ปากแรกที่กำลังสืบอยู่เป็นต้นไป จนหมดพยานของโจทก์ และจำเลยมีสิทธินำพยานของตนเข้าสืบหักล้างต่อไปด้วย ส่วนการที่รายงานกระบวนพิจารณาไม่มีข้อความว่า จำเลยขอสืบพยานแต่มีข้อความว่าจำเลยจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ยังไม่พอถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลย เพราะไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ติดใจสืบพยานของตนทั้ง ๆ ที่ได้ยื่นบัญชีพยานไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเช่นนี้ถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาส่วนการดำเนินกระบวนพิจารณาของจำเลยนั้น จำเลยก็ขอให้ศาลปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๕ วรรค ๒ และวรรค ๓ตลอดมา เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๕ วรรค ๒ และวรรค ๓ โดยเมื่อสืบพยานโจทก์ไปแล้วก็นัดฟังคำพิพากษาเลยทีเดียว โดยมิได้วินิจฉัยว่าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่เสียก่อน จนเป็นเหตุให้จำเลยไม่ได้สืบพยานของตนและแพ้คดี จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้สั่งให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ถึงแม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีก็ตาม
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓(๒), ๒๔๗ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๐๕ วรรค ๒ และวรรค ๓ โดยให้วินิจฉัยว่าการขาดนัดของจำเลยเป็นไปโดยจงใจหรือไม่ แล้วมีคำสั่งหรือดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี