แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย หลายบทหลายกระทง โดยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดไว้ในครอบครองและได้บังอาจจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่ผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย ฯลฯ จำเลยให้การรับสารภาพดังนี้การที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองและได้จำหน่ายเฮโรอีนแก่ผู้อื่น การกระทำของจำเลยแยกได้เป็นสองกระทง แต่ละกระทง เป็นความผิดตามกฎหมาย ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานมีเฮโรอีนและฐานจำหน่ายเฮโรอีนได้
มีเฮโรอีนไว้ในความครอบครอง และได้จำหน่ายเฮโรอีนให้แก่ ผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นความผิดสองกระทง เมื่อจำเลยกระทำความผิดภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11มีผลใช้บังคับแล้ว แม้โจทก์จะมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงมาด้วยศาลย่อมมีอำนาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง โดยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด น้ำหนัก ๖๐ มิลลิกรัมราคากรัมละ ๓๐ บาทไว้ในครอบครองและได้บังอาจร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่ผู้อื่นโดยผิดกฎหมายทั้งได้บังอาจร่วมกันมีกันชาจำนวน ๑ ห่อ น้ำหนัก ๕๐,๑๕๐ กรัม และบ้องกันชา ๒ บ้องไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยเฮโรอีนกันชา และบ้องกันชาดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔, ๕ ทวิ, ๑๔, ๒๐ ตรี, ๒๐ ทวิ, ๒๗, ๒๘, ๒๙พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๑๐, ๑๑พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๓, ๔, ๖, ๗, ๘, ๑๒พระราชบัญญัติกันชา พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๗, ๘, ๑๐ และริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพฐานมีกันชาและบ้องกันชา แต่ปฏิเสธฐานมีเฮโรอีนและฐานจำหน่ายเฮโรอีน
จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานมีกันชาและบ้องกันชา ลดโทษรับสารภาพให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ รวม ๒๐๐ บาทจำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานมีกันชาและบ้องกันชา ปรับรวม ๒๐๐ บาท และตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔, ๔ ทวิ, ๑๔,๒๐ ตรี, ๒๐ ทวิ, ๒๗, ๒๘, ๒๙ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๑๐, ๑๑ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ และ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๓, ๔, ๖, ๗, ๘, ๑๒ลงโทษฐานมีเฮโรอีน จำคุก ๒ ปี ฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำคุก ๘ ปี ลดโทษรับสารภาพให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๕ ปี ปรับ ๑๐๐ บาท ริบของกลางคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานมีและจำหน่ายเฮโรอีนตามฟ้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า การมีและจำหน่ายเฮโรอีนเป็นกรรมเดียวกันขอให้ลงโทษในเรื่องเฮโรอีนเฉพาะบทหนักเพียงกระทงเดียว คือ จำหน่ายเฮโรอีนเท่านั้น และไม่ควรถูกลงโทษฐานมีกันชากับบ้องกันชา เพราะจำเลยที่ ๑รับสารภาพแล้วว่าเป็นของจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดแต่เพียงกระทงเดียว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ฐานจำหน่ายเฮโรอีนแต่เพียงกระทงเดียวมีกำหนด ๘ ปี จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๔ ปี นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานมีและฐานจำหน่ายเฮโรอีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กฎหมายบัญญัติการมีไว้ซึ่งเฮโรอีนและการจำหน่ายเฮโรอีนไว้คนละมาตรา เป็นคนละฐานความผิดกัน การที่จำเลยที่ ๒ มีเฮโรอีนไว้ในความครอบครอง และจำเลยที่ ๒ จำหน่ายเฮโรอีนแก่ผู้อื่นเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ แยกได้เป็น ๒ กระทง แต่ละกระทงเป็นความผิดตามกฎหมาย ศาลลงโทษฐานมีเฮโรอีนและฐานจำหน่ายเฮโรอีนได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นและจากข้อเท็จจริงในคดี ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ กระทำความผิดหลังจากที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ มีผลใช้บังคับแล้วตามประกาศดังกล่าว ข้อ ๒ ได้แก้ไขยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑โดยให้ลงโทษผู้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แม้คดีนี้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา ๙๑ มาในคำขอท้ายฟ้องแต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงมาด้วย จึงเห็นว่าศาลมีอำนาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยได้ อนึ่ง เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๒ มานั้นยังไม่ถูกและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขในเรื่องนี้ศาลฎีกาจึงชอบที่จะแก้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒เป็นว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. ๒๔๖๕ มาตรา ๔ ทวิ, ๒๐ ทวิ, ๒๐ ตรี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔, ๖, ๗ ให้ลงโทษเรียงกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ข้อ ๒ ส่วนการกำหนดโทษและลดโทษนั้น ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นของกลางริบ