คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยส่งใบเลื่อยให้แก่ ห. ซึ่งถูกคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวน ห. ใช้ใบเลื่อยที่จำเลยส่งให้นั้นเลื่อยลูกกรงห้องขังแล้วหลบหนีไป การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการทำให้ ห. หลุดพ้นจากการคุมขังอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191 แต่จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้ ห. ผู้ถูกคุมขังหลบหนีจากการคุมขังซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 190 ประกอบด้วยมาตรา 86
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 191 แต่บรรยายฟ้องมาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ประกอบด้วยมาตรา 86 จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จัดหาเลื่อยสำหรับตัดเหล็ก ๒ อัน หักเป็น ๔ ท่อน สอดใส่หนังสืออ่านเล่นมอบให้นายหาญผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังบนสถานีตำรวจตามอำนาจของพนักงานสอบสวน เพื่อให้นายหาญใช้เลื่อนดังกล่าวเลื่อยตัดลูกกรงเหล็กห้องขังให้ขาดหลุดออกนายหาญใช้เลื่อยที่จำเลยมอบให้ เลื่อยตัดลูกกรงเหล็กหน้าต่างห้องขังหลุดออก แล้วนายหาญกับนายประสาทผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งได้หลบหนีหลุดพ้นจากการควบคุมไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๔ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๔ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๙ เดือน ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าจำเลยทำผิด พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำใบเลื่อยส่งให้นายหาญและวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๔ นั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะการกระทำของจำเลยมิได้เป็นการทำให้นายหาญและนายประสาทหลุดพ้นจากการคุมขัง การที่นายหาญและนายประสาทหลุดพ้นจากการคุมขัง เป็นเพราะนายหาญใช้ใบเลื่อยที่จำเลยส่งให้เลื่อนลูกกรงห้องขังแล้วหลบหนีออกไป เป็นการกระทำของนายหาญผู้เดียว จำเลยเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือนายหาญโดยหาใบเลื่อยตัดเหล็กให้ เป็นการสนับสนุนผู้กระทำผิดตามมาตรา ๘๖
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๙๑ และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๔ แต่ฟ้องบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๐ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ เมื่อทางพิจารณาได้ความตามฟ้อง จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๓ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๐ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๔ ให้ลงโทษจำคุก ๖ เดือนริบของกลาง

Share