คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ต้นฉบับเอกสารเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลบันทึกไว้หาไม่พบ จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงโดยอาศัยภาพถ่ายอันเป็นสำเนาเอกสารนั้นแทนต้นฉบับได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) และมาตรา 123
ผู้เอาประกันชีวิตรู้ตัวดีว่าตนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและปัสสาวะเป็นเลือดก่อนขอเข้าทำสัญญาประกันชีวิต แต่ก็ ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงให้บริษัทประกันชีวิตทราบ สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆียะ
ผู้ตายทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลยโดยระบุให้ผู้เยาว์คนหนึ่งเป็นผู้รับประโยชน์เมื่อปรากฏว่า สัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865และบริษัทจำเลยได้บอกล้างไปยังผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์นั้นแล้ว สัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรเกิดจากนายเต็กคิ้มกับนางระวิพรรณซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส จำเลยได้ทำสัญญารับประกันชีวิตของนายเต็กคิ้มบิดาโจทก์ไว้เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์เต็มจำนวน นายเต็กคิ้มได้ชำระเบี้ยประกันสำหรับปีแรกให้จำเลยแล้วเป็นเงิน๖,๗๙๐ บาท ต่อมานายเต็กคิ้มถึงแก่กรรม โจทก์ได้แจ้งการตายของนายเต็กคิ้มพร้อมหลักฐานต่อจำเลยเพื่อขอรับเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญารับประกันชีวิตของนายเต็กคิ้มไว้จริงแต่นายเต็กคิ้มรู้อยู่แล้วว่าก่อนและในขณะที่ขอประกันชีวิตนั้นตนเองป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเคยใช้ยาลดความดันโลหิตสูงมาก่อน และเคยเจ็บป่วยขนาดปัสสาวะเป็นเลือดมาแล้ว แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริงถ้าเปิดเผยความจริง จำเลยก็จะไม่รับประกันชีวิตให้ ทั้งนายเต็กคิ้มยังแถลงเป็นความเท็จว่าสุขภาพของตนไม่ทรุดโทรมในทางใดทางหนึ่ง ไม่เคยใช้ยาลดความดันโลหิตสูง ไม่เคยเป็นและไม่เคยรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน ฯลฯ ถ้านายเต็กคิ้มให้ถ้อยแถลงตามความเป็นจริง จำเลยก็จะบอกปัดไม่รับประกันชีวิต สัญญารับประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยได้มีหนังสือบอกล้างแล้วจึงเป็นโมฆะจำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายเต็กคิ้มรู้อยู่ก่อนขอประกันชีวิตว่า ตนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยความจริง และให้ถ้อยแถลงในการขอประกันชีวิตเป็นความเท็จ สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยได้บอกล้างไปยังนางระวิพรรณมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์แล้ว จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยหาต้องรับผิดไม่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่พอรับฟังว่าขณะที่ขอเอาประกันชีวิต นายเต็กคิ้มรู้ว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตชนิดร้ายแรงลำพังแต่เพียงนายเต็กคิ้มมิได้แจ้งให้จำเลยทราบเกี่ยวกับสุขภาพ ยังไม่ถึงขนาดที่จะอนุมานเอาได้ว่าถ้าได้แจ้งเช่นนั้นแล้ว จะทำให้จำเลยบอกปัดไม่รับประกันหรือเรียกประกันสูงขึ้น อันจะทำให้สัญญาเป็นโมฆียะ ทั้งการตายของนายเต็กคิ้มก็ไม่ปรากฏว่าเกิดจากโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคไตเรื้อรังจำเลยจึงต้องรับผิด พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินและดอกเบี้ยตามฟ้อง
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจประเด็นข้อที่ ๑ เกี่ยวกับการรับฟังเอกสาร ล.๒-ล.๗ ว่าเนื่องจากทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์หาต้นฉบับเอกสาร ล.๒-ล.๗ ไม่พบเอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยของนายเต็กคิ้มซึ่งแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์บันทึกไว้ ในกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงโดยอาศัยภาพถ่ายอันเป็นสำเนาเอกสาร ล.๒-ล.๗ แทนต้นฉบับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓(๒) และมาตรา ๑๒๓ทั้งจำเลยยังมีพยานบุคคลหลายปากมาสืบประกอบพยานเอกสาร ล.๒-ล.๗อีกด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่า เอกสาร ล.๒-ล.๗ รับฟังได้นั้นชอบแล้ว
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายเต็กคิ้มรู้ตัวดีว่าตนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และสุขภาพทรุดโทรมก่อนที่ตนขอเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลย แต่ได้ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงให้บริษัทจำเลยทราบและเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่จำเลยต้องการทราบเพื่อประกอบการวินิจฉัยของจำเลยว่าจะตกลงทำสัญญากับผู้ขอเอาประกันชีวิตหรือไม่ ซึ่งถ้าหากบริษัทจำเลยทราบความดังกล่าวก็จะไม่รับประกันชีวิตให้ ดังนี้ สัญญาประกันชีวิตรายพิพาทย่อมตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๖๕ เมื่อจำเลยได้บอกล้างไปยังนางระวิพรรณผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์แล้ว สัญญาพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share