คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2603/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีฉ้อโกง การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว สั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง เป็นการใช้ดุลพินิจตามมาตรา 174 วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าจำเป็นต้องสืบพยานต่อไปอีกหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริง และการที่ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์มิได้ซื้อที่พิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ ข้อนี้ก็เป็นปัญหาในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเป็นศาลแขวงโจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันโดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ดินคั่นระหว่างที่ดินของโจทก์กับซอยวัดไผ่ตัน จำเลยจะปิดกั้นเพื่อมิให้ที่ดินของโจทก์มีทางออกไปสู่ซอยวัดไผ่ตันได้ ให้โจทก์ไปตกลงกับจำเลย โจทก์หลงเชื่อคำหลอกลวงจึงทำสัญญาซื้อส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยและชำระราคากันแล้ว ภายหลังจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยนำมาขายเป็นทางสาธารณะ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้รับประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ ๒ ปากแล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า รูปคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินที่พิพาททั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นที่สาธารณะ หาใช่เพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยทั้งสองไม่จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้มีการสืบพยานให้เสร็จสิ้นกระแสความก่อน แล้วพิพากษาใหม่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยยังไม่ได้ความชัดเกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวหา ควรฟังข้อเท็จจริงต่อไปพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไปจนสิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้น (ศาลแขวง) ทำการสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง เป็นการใช้ดุลพินิจตามมาตรา ๑๗๔ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าจำเป็นต้องสืบพยานต่อไปอีกหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและการที่ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์มิได้ซื้อที่พิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ ข้อนี้ก็เป็นปัญหาในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันเมื่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวง) พิพากษายกฟ้องแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ซึ่งแก้ไขโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share