คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1360/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘GANTRISIN’ในสินค้าจำพวก 3 เป็นผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษาโรคมนุษย์และได้ขายยาที่มีเครื่องหมายนี้มากว่า 10 ปีแล้ว จำเลยเพิ่งผลิตยาใช้เครื่องหมายการค้าว่า ‘KANDICIN’ ออกจำหน่ายได้ 2 ปี เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยเป็นอักษรโรมันใช้ภาษาต่างประเทศเป็นลักษณะสำคัญ ลักษณะและจำนวนตัวอักษรไล่เรี่ยกัน มีสามพยางค์เท่ากัน การอ่านออกสำเนียงพื้นเสียงอักษรที่นำหน้าก็ดี พยางค์ที่ 2 และที่ 3 ก็ดี คล้ายกันและเหมือนกันของโจทก์อ่านออกเสียงได้ว่า ‘กันทริสซิน’ หรือ ‘กานตริซิน’ ของจำเลยว่า ‘แคนดิซิน’ หรือ ‘คานดิซิน’ เป็นสำเนียงที่ใกล้เคียงคล้ายกันมากเม็ดยา ขนาดและสีก็อย่างเดียวกัน ตัวอักษรที่พิมพ์ทับกันบนเม็ดยาก็คล้ายกัน และต่างก็ใช้กับยาปฏิชีวนะเหมือนกัน จึงถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้ประชาชนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคต่าง ๆ โจทก์ได้ประดิษฐ์อักษรโรมันอันมีลักษณะบ่งเฉพาะว่า “GANTRISIN” อ่านว่า”กันทริสซิน” หรือ “กานตริซิน” แปลไม่ได้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนเป็นที่นิยมเชื่อถือในคุณภาพมานานนับสิบปี ประชาชนผู้ใช้สินค้าของโจทก์ทั่วไปก็เรียกว่า “กันทริสซิน” หรือ “กานตริซิน” โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทย จำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำการผลิตและจำหน่ายยารักษาโรคมนุษย์จำพวกเดียวกับโจทก์ โดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันว่า “KANDICIN” อ่านว่า “กานดิซิน”อันเป็นการคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งในด้านการวางรูปอักษรโรมันและการออกสำเนียงเรียกขาน จำเลยยังได้ทำเม็ดยาให้มีลักษณะและสีสรรค์คล้ายกับของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ประชาชนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า และทำให้เกิดการสับสนหลงผิดในการเลือกใช้สินค้าของโจทก์ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ขอให้พิพากษาห้ามจำเลยผลิตจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า”KANDICIN” ให้ยึดและอายัดสินค้าที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ยาของโจทก์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมิได้มีชื่อดังฟ้องหากมีชื่อดังกล่าวรวมอยู่ก็มิใช่เป็นชื่อบ่งเฉพาะ เป็นเพียงอักษรโรมัน ๙ ตัวเรียงกัน โจทก์จะผูกขาดเป็นของตนผู้เดียวไม่ได้ ยาของโจทก์มีชื่อ “โรช” (Roche)อักษรย่อชื่อบริษัทโจทก์ติดอยู่ที่เม็ด หีบห่อหรือกล่อง เป็นลักษณะบ่งเฉพาะและเป็นที่รู้จักกันดียาแดนดิซินของจำเลยได้เอาคำ แคนดิส (KANDIS)ซึ่งแปลว่าลูกกวาดหรือก้อนขนมหวาน และคำว่า ซีน (CIN) ซึ่งแจ้งให้ทราบถึงส่วนผสมทางเคมีมาสนธิกันเข้า ตัด S ในคำว่า KANDIS ออก สนธิกันแล้วเป็นอักษรโรมันว่า KANDICIN อ่านว่า แคนดิซีน มีคำไทยกำกับว่า แคนดิซินแตกต่างกับเครื่องหมายของโจทก์ จึงมิได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อมิให้หลงผิดในแหล่งกำเนิด จำเลยได้พิมพ์อักษรย่อชื่อบริษัทจำเลยว่า T.P.ลงบนเม็ดยาทุกเม็ดทุกหีบห่อและกล่อง ยาโจทก์มีลักษณะแบนเรียบกลมและด้านยาจำเลยมีลักษณะแบนกลมนูนและเคลือบมัน แตกต่างกัน ส่วนสีของยาไม่เป็นข้อกำหนดบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ยานี้เป็นยาประเภท ก. ผู้จำหน่ายต้องมีเภสัชกรชั้น ๑ ควบคุมและจำหน่ายตามใบสั่งแพทย์ จึงไม่มีการผิดหลง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ามีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ เป็นการเลียนแบบอันอาจทำให้ประชาชนหลงผิดเป็นการละเมิดห้ามจำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าKANDICIN กับให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวก ๓ เป็นผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษาโรคมนุษย์ โดยใช้เครื่องหมายการค้าว่า GANTRISIN เป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยผลิตยาใช้เครื่องหมายการค้าว่า KANDICIN และ KANDICIN-A ออกจำหน่ายแล้ววินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยมีอักษรโรมัน๓ พยางค์เท่ากัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะใช้ตัวอักษร G นำหน้าของจำเลยใช้ตัว K ก็อ่านออกสำเนียงพื้นเสียงตัว ก เช่นเดียวกัน และพยางค์ที่ ๒ โจทก์ใช้ตัว TR จำเลยใช้ตัว D ออกพื้นเสียงเป็นตัว ต และ ดคล้ายกัน พยางที่ ๓ คำว่า ซิน โจทก์ใช้ตัว S จำเลยใช้ตัว C มีพื้นเสียงเป็นตัว ซ เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองใช้ภาษาต่างประเทศเป็นลักษณะสำคัญ ลักษณะตัวอักษรและจำนวนตัวอักษรก็ไล่เรี่ยกันของโจทก์ใช้ตัวอักษร ๙ ตัว ของจำเลยใช้ตัวอักษร ๘ ตัว สำเนียงเรียกขานเป็นภาษาไทยของโจทก์ว่า “กันทริสซิน” หรือ “กานตริซิน” ของจำเลยว่า”แคนดิซิน” หรือ “คานดิซิน” ก็ได้ เป็นสำเนียงที่ใกล้เคียงคล้ายกันมากผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศย่อมฟังและเรียกขานเป็นสำเนียงเดียวกันสินค้าของจำเลยกับของโจทก์เป็นสินค้าจำพวกยาปฏิชีวนะเหมือนกันหัวหน้ากองเครื่องหมายการค้าก็ว่าหากจำเลยไปขอจดทะเบียนก็จะไม่จัดการให้เพราะออกสำเนียงคล้ายกับของโจทก์ โจทก์ได้ผลิตยาเครื่องหมายการค้านี้แพร่หลายมากว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยเพิ่งผลิตเมื่อ ๒ ปีก่อนเกินกรณีพิพาทคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้ประชาชนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า เป็นการละเมิดสิทธิโจทก์
ข้อที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยว่า ตัวขวดบรรจุยา และการใช้เครื่องหมายการค้าบนสลากยาของโจทก์และของจำเลยแตกต่างกันนั้นหาใช่ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้าที่พิพาทนี้ไม่ เพราะประชาชนผู้ใช้มักใช้ยาตามชื่อที่เรียกขานกัน ก็ไปซื้อยาตามชื่อนั้นและมักจะซื้อปลีก หาได้พิถีพิถันหรือสนใจสังเกตขวดหรือหีบห่อที่บรรจุยาอย่างใดไม่ เมื่อชื่อยาของจำเลยเรียกขานสำเนียงคล้ายกับชื่อยาของโจทก์ ทั้งเม็ดยา ขนาดและมีชนิดสีแดงอย่างเดียวกันตัวอักษรบนเม็ดยาของโจทก์ใช้ตัว R ทับตัว H ของจำเลยใช้ตัว Tทับตัว P คล้ายกัน และพิเคราะห์พฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยแล้วอาจทำให้ประชาชนหลงผิดได้ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายนี้เป็นอย่างเดียวกัน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share