คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1420/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารที่ผู้ตายทำไว้ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นพินัยกรรมหรือแสดงถึงเจตนาของผู้ตายในการ กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินว่า ให้เกิดผลบังคับเมื่อตนถึงแก่ความตายไปแล้วเลยแม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่า ‘เวลาทำหนังสือฉบับนี้มีสติสัมปชัญญะดีเป็นปกติดี’ ก็ดี หรือ ‘ขอเจตนาครั้งสุดท้าย’ ก็ดีก็หาทำให้แปลความได้ว่าผู้ตายมีเจตนาที่จะยกทรัพย์ของตนให้เมื่อตนถึงแก่ความตายไปแล้วไม่ ข้อความในตอนท้ายของเอกสารที่ว่า ‘ข้าพเจ้าขอยกให้ (ระบุชื่อผู้รับ) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป’กลับแสดงแจ้งชัดว่าผู้ตายเจตนาที่จะยกทรัพย์ให้แก่ผู้รับทันทีในระหว่างที่ตนยังมีชีวิต เอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่พินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ก่อนพระครูสมุทรสุนทรอุปสมบท พระครูสมุทรสุนทรได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายอินทร์ ในที่ดินเนื้อที่ ๒๒ ไร่เศษ ตามโฉนดที่ ๓๗๑๐ เมื่อพระครูสมุทรสุนทรถึงแก่มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่ทำแต่หนังสือยกที่ดินให้จำเลยโดยไม่จดทะเบียน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นหลานเจ้ามรดกและเป็นทายาทอันดับเดียวกับจำเลยมีสิทธิได้รับมรดกคนละครึ่ง โจทก์ขอแบ่งแล้ว จำเลยไม่ยินยอม จึงขอให้ศาลบังคับ หากบังคับให้แบ่งไม่ได้ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาโดยลงชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า พระครูสมุทรสุนทรมรณภาพแล้ว จำเลยทราบว่าพระครูสมุทรสุนทรได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้จำเลยแต่ผู้เดียว กับตัดฟ้องว่าฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา ๑๗๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
วันนัดชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่าที่พิพาทโฉนดที่ ๓๗๑๐เป็นทรัพย์ที่พระครูสมุทรสุนทรได้มาก่อนอุปสมบท และพระครูสมุทรสุนทรได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๐ ยกที่พิพาทส่วนของท่านให้แก่จำเลย ซึ่งโจทก์ว่าเป็นการยกให้ที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่จำเลยเถียงว่าเป็นพินัยกรรม แล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยต้นฉบับหนังสือที่โต้เถียงกันนั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม หนังสือที่พระครูสมุทรสุนทรทำไว้ไม่ใช่พินัยกรรม แต่เป็นหนังสือยกให้โดยเสน่หามิได้จดทะเบียนจึงไม่มีผลตามกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์ลงชื่อรับมรดกถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่พิพาทหนึ่งในหกส่วน ถ้าจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้ง
จำเลยฎีกาโต้เถียงมา ๒ ประเด็น คือ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมส่วนประเด็นหลังเห็นว่าเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า “หนังสือฉบับนี้ของพระครูสมุทรสุนทร (แขก) เจ้าอาวาสวัดพวงมาลัยเจ้าคณะตำบลแม่กลองอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
เขียนที่วัดพวงมาลัย
วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
ข้าพเจ้าพระครูสมุทรสุนทร (แขก) เจ้าอาวาสวัดพวงมาลัยเจ้าคณะตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม องค์ปัจจุบันเวลานี้มีอายุ ๘๕ ปี พรรษา ๖๕ เวลาทำหนังสือฉบับนี้มีสติสัมปชัญญะดีเป็นปกติดี ขอเจตนาครั้งสุดท้าย ข้าพเจ้าขอยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๗๑๐ตำบลลาดใหญ่ (แม่กลอง) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีชื่อข้าพเจ้ากับนางเชยมีส่วนคนละครึ่งเท่า ๆ กัน เฉพาะส่วนของข้าพเจ้าซีกข้างตะวันออกตั้งแต่ริมคลองบางประจันต์ขึ้นไปถึงที่สุดปลายที่เป็นเนื้อที่ห้าซีกประมาณ ๑๑ ไร่เศษ ข้าพเจ้ายกให้นางใจ กลั่นแสง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดจะมาโจทก์นาร้องฟ้องเอาที่รายนี้เป็นของ ๆ ตนไม่ได้เป็นอันขาด
ข้าพเจ้าได้ฟังความในหนังสือนี้เข้าใจความตลอดแล้ว จึงได้เซ็นชื่อไว้ต่อหน้าพยานไว้เป็นสำคัญ
ลงชื่อ พระครูสมุทรสุนทร ผู้ยกให้ (ลายเซ็น)
ลงชื่อ พระครูสมุทรสุนทร ผู้ยกให้ (เขียนชื่อกำกับลายเซ็น)
ลงชื่อ พระพุฒ จันทวัณโณ พยาน
ลงชื่อ พระนิพนธ์ สุทธิโก พยานผู้เขียน
ลงชื่อ พระทองเจือ อธิจิตโต พยาน
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารฉบับนี้ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นพินัยกรรม หรือแสดงถึงเจตนาของพระครูสมุทรสุนทรในการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินว่าให้เกิดผลบังคับเมื่อท่านถึงแก่มรณภาพไปแล้วเลยข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่ว่า “เวลาทำหนังสือฉบับนี้มีสติสัมปชัญญะดี เป็น ปกติดี” ก็ดี หรือ “ขอเจตนาครั้งสุดท้าย” ก็ดีหาทำให้แปลความหมายได้ว่า พระครูสมุทรสุนทรมีเจตนาที่จะให้ที่รายพิพาทตกได้แก่จำเลยเมื่อท่านถึงแก่มรณภาพไปแล้วไม่ ตรงกันข้ามข้อความในเอกสารดังกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าขอยกให้นางใจ กลั่นแสง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” กลับแสดงแจ้งชัดว่าพระครูสมุทรสุนทรเจตนาที่จะยกที่พิพาทให้แก่จำเลยทันทีในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิต เอกสารหมาย จ.ล.๑ดังกล่าวจึงไม่ใช่พินัยกรรม
พิพากษายืน

Share