คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปลัดจังหวัดสั่งอนุมัติให้ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดยืมเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไปใช้ในงานก่อสร้าง ของแผนกโยธาจังหวัดโดยผิดระเบียบวิธีการงบประมาณและการคลังส่วนจังหวัด เป็นเหตุให้ผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดยักยอกเอาเงินไปใช้ส่วนตัว ถือได้ว่าปลัดจังหวัดและผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดร่วมกันกระทำการละเมิดต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน
ผู้ต้องเสียหายรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแน่นอนแล้ว เป็นแต่เพียงผู้เสียหายมีหนังสือสอบถามไปว่า จะยอมชดใช้เงินหรือไม่ ถ้ายอมใช้ก็ไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวน เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และอาจมีผู้อื่นต้องร่วมรับผิดอีกก็ได้นั้น ไม่เป็นข้อที่จะยกขึ้นมาขยายเวลาสิทธิเรียกร้องได้ ความที่ยังไม่รู้ตัวผู้ร่วมกระทำผิดด้วย หานำมาอ้างว่าไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เคยเป็นปลัดจังหวัดพิจิตรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๙๖ จนถึงเดือนเมษายน ๒๕๐๑ จึงย้ายไปเป็น นายอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างจำเลยที่ ๑ เป็นปลัดจังหวัดพิจิตร มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทางหลวงจังหวัดพิจิตร ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย และสั่งหรืออนุญาตให้จ่ายเงินแผนกมหาดไทยแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในเมื่อรักษาราชการแทน และเป็นกรรมการเก็บรักษาเงินแผนกมหาดไทยด้วย โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ช่วยเสมียนตราจังหวัดอยู่ในบังคับบัญชา ของจำเลยที่ ๑ เมื่อระหว่างวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๐ ถึงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผนกมหาดไทยยืมเงินของโจทก์ไปทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการทางหลวงจังหวัดพิจิตร แผนกโยธาเทศบาลจังหวัดพิจิตรรวม ๕ ครั้ง รวมเงินที่จำเลยที่ ๑ อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ยืมไปทั้ง ๕ ครั้ง จำเลยที่ ๒ ส่งใช้บ้างแล้ว คงค้างตามใบยืมจำนวน ๔๘,๘๒๕ บาท ๕๐ สตางค์ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ยืม เป็นการผิดระเบียบวิธีการงบประมาณและการคลัง เป็นการก่อหนี้โดยไม่มีงบประมาณ ไม่มีโครงการ และให้ยืมไปโดยมิได้ตรวจสอบหลักฐานผลงาน มิได้เร่งรัดสะสางใบยืม ไม่เรียกใบสำคัญคู่จ่ายจากจำเลยที่ ๒ ตอนย้ายไป ก็มิได้มอบหมายให้เร่วรัดกันต่อไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ยักยอกเอาเงินตามใบยืมนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ต่อมาวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๕ นายเที่ยง เฉลิมช่วง ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้ต้องรับผิด ชดใช้เงินให้โจทก์ คณะกรรมการแจ้งให้นายเที่ยง เฉลิมช่วง ทราบ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๕ ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินจำนวนนี้ให้โจทก์ เพราะจำเลยที่ ๒ ผู้ยืมไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่ นายเที่ยง เฉลิมช่วง จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๑ นำเงิน ๔๘,๘๒๕.๕๐ บาท มาใช้ให้โจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช้ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวนนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ยืมเงินตามที่โจทก์ฟ้อง ไปโดยสุจริตถูกต้องตามระเบียบราชการและกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิด เงินที่ให้ยืมมิใช่เงินขององค์การโจทก์ แต่เป็นเงินฝากของแผนกมหาดไทยส่วนการกุศล ซึ่งจำเลยมีอำนาจให้ยืมได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ นำเงินบางส่วนมาชดใช้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่นำมาใช้ใบสำคัญนี้ กลับเอาไปใช้รายอื่น ซึ่งอยู่ระดับหลัง เป็นการปัดความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน โยนความรับผิดมาให้จำเลย โจทก์ฟ้องคดีผิดเขตอำนาจศาล โจทก์ไม่ระบุว่าจำเลยทำละเมิดอย่างใด และไม่ใช่เป็นการกระทำโดยละเมิด โจทก์จะเรียกร้องดอกเบี้ยไม่ได้ หากเป็นการละเมิด ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๑
ก่อนวันนัดชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินตามใบยืมฉบับที่ ๑ ถึง ๔ เป็นเงินของแผนกมหาดไทย ไม่ใช่เป็นของโจทก์ แม้ต่อมาจะแยกบัญชีออกจากกัน ก็ยังเป็นเงินของแผนกมหาดไทยอยู่ การแยกบัญชีกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการโอนหนี้ ซึ่งจะต้องบอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบ แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการบอกกล่าวให้จำเลยทราบการโอน การโอนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินตามใบยืม ๔ ฉบับนี้ใบยืม ๕ ฉบับนี้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๕ คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินตามใบยืม ๔ ฉบับแรกเป็นของโจทก์ ฟ้องไม่เคลือบคลุม คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เงินตามใบยืม ๔ ฉบับแรกเป็นเงินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนปัญหาเรื่องอายุความ สมควรที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เสียก่อน แล้วจึงวินิจฉัยเรื่องอายุความ พิพากษาแก้ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในเรื่องอายุความต่อไปสำหรับจำเลยที่ ๑ อีกข้อหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความและไม่เคลือบคลุม ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ หนี้รายนี้เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ ๒ มิได้อุทธรณ์ จำเลยที่ ๒ ก็ได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมีผลบังคับแก่จำเลยที่ ๒ ด้วย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ได้อนุมัติให้จำเลยที่ ๒ ยืมเงินโจทก์ไปใช้ในงานก่อสร้างของแผนกโยธาจังหวัดพิจิตร โดยที่ไม่ได้ทำโครงการไว้ก่อน และกรมโยธาเทศบาลมิได้จัดสรรงบประมาณประเภทก่อสร้างมาให้เบิกจ่าย เป็นการเบิกจ่ายเงินโดยผิดระเบียบวิธีการงบประมาณ และการคลังส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ นำเงินที่ยืมไปจ่ายโดยไม่มีใบสำคัญ และยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเสีย ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการละเมิดต่อโจทก์ ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินที่ยืมแก่โจทก์ โดยโจทก์ผู้เสียหายต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘
ปัญหาจึงมีว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เมื่อใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายคำรณ สัขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๔ ตามเอกสาร จ.๑ ถึงจำเลยที่ ๑ ความว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ ๖ ตรวจสอบบัญชีการเงินแผนกมหาดไทยจังหวัดพิจิตร พบว่านายประสม วราศิลป์ ยืมเงินราชการไป ๕ ครั้ง โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ให้ยืมหรือเบิกจ่ายได้ นายประสม วราศิลป์ ยังไม่ได้ส่งใช้คืน ให้จำเลยที่ ๑ พิจารณาว่าจะยินยอมร่วมรับผิดชอบส่งใช้เงินดังกล่าวได้หรือไม่ หนังสือหมาย ล.๑ นี้มีข้อความชัดแจ้งว่าได้มีการละเมิดเกิดขึ้นแล้ว โดยจำเลยที่ ๒ ได้ยืมเงินราชการไปใช้ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้อนุญาต โดยไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ ให้จำเลยที่ ๑ ร่วมชดใช้กันจำเลยที่ ๒ นายคำรณ สังขกร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแน่นอนแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๔ โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เกินกำหนด ๑ ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความ
ข้อที่โจทก์อ้างว่าตามเอกสาร ล.๑ เป็นเรื่องนายคำรณ สังขกร สอบถามไปยังจำเลยที่ ๑ ว่าจะยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ถ้าไม่ยอมใช้ก็ไม่ต้องแต่งตั้งกรรมการสอบสวน ที่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และอาจมีผู้อื่นต้องร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อีกก็ได้นั้น เป็นข้อที่ไม่อาจยกขึ้นมาขยายเวลาสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ในเมื่อโจทก์รู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ส่วนจะมีผู้ใดร่วมกระทำละเมิดด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความที่ยังไม่รู้ตัวผู้ร่วมกระทำผิดด้วย หานำมาอ้างว่าไม่รู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ไม่
พิพากษายืน

Share