คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่ ห. กับโจทก์อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสนั้น ห. กับโจทก์เอาเงินที่หาได้ร่วมกันไปซื้อที่ดินพิพาท โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกับ ห. ต่อมา ห.กับจำเลยจดทะเบียนซื้อขายโอนที่พิพาททั้งแปลงโดยไม่สุจริตการที่ ห. กับจำเลยจดทะเบียนโอนที่พิพาทส่วนของโจทก์ด้วยนั้นจึงเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์ได้อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น แม้การโอนจะมีค่าตอบแทนแต่เมื่อจำเลยผู้รับโอนกระทำการโดยไม่สุจริตแล้ว โจทก์ย่อมเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ โจทก์ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายหยัด แจ่มโฉม จนมีบุตรด้วยกัน ๕ คน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โจทก์กับนายหยัดได้ซื้อที่ดินมีโฉนด ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๔ ไร่ โดยโจทก์มอบให้นายหยัดลงชื่อในโฉนดแทนโจทก์ พ.ศ. ๒๕๐๔ โจทก์ทะเลาะกับนายหยัด จึงแยกไปอยู่ที่อื่น ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๑ นายหยัดถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงตกได้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งในฐานะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วม หลังจากนายหยัดตายแล้ว โจทก์จึงทราบว่านายหยัดได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรนายหยัดอันเกิดกับภริยาคนเก่าการโอนขายกระทำกันโดยไม่สุจริต เพราะมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการชำระราคาที่ดินก็ทำกันเพื่อตบตาบุคคลภายนอก จึงขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงนี้ และให้จำเลยแบ่งที่ดินแปลงนี้จำนวน ๗ ไร่ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินมีโฉนดดังกล่าว นายหยัดได้ซื้อด้วยเงินของนายหยัดเองภายหลังจากได้แยกกันอยู่กับโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีส่วนร่วมซื้อและไม่ได้มอบให้ลงชื่อในใบโฉนดแทนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ นายหยัดได้ขายที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่จำเลย ได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยไม่มาศาลโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา และสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินมีโฉนดให้โจทก์ ๗ ไร่
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี หรือมิฉะนั้นก็ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่พิพาทดังฟ้องพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่โจทก์อยู่กินกับนายหยัดนั้น โจทก์ได้ซื้อที่พิพาทร่วมกับนายหยัด เงินที่เอาไปซื้อนี้เป็นเงินที่โจทก์กับนายหยัดร่วมกันหาได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ต้องถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกับนายหยัด นายหยัดจึงไม่มีสิทธิที่จะขายที่พิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลย การจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยกับนายหยัดซึ่งเป็นพ่อลูกกันนี้น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำกันโดยไม่สุจริต เพราะนายหยัดหรือจำเลยน่าจะบอกให้โจทก์ทราบเพราะขณะนั้นโจทก์จำเลยและนายหยัดก็อยู่ภายในบ้านเดียวกันที่จำเลยกับนายหยัดจดทะเบียนโอนที่พิพาทส่วนของโจทก์ด้วยนั้นเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทกผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์ได้อยู่ก่อนแล้ว การโอนนั้นแม้จะฟังได้ว่ามีค่าตอบแทน เมื่อจำเลยผู้รับโอนกระทำการโดยไม่สุจริตแล้วโจทก์ก็อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share