แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างทำขึ้นเป็นหนังสือ แม้จะมีข้อความว่าผู้รับจ้างได้ตกลงยินยอมและมอบให้ธนาคาร… แต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเงินเกี่ยวกับค่าจ้างเหมาทั้งสิ้น และผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ธนาคาร… โดยธนาคารผู้รับมอบลงชื่อไว้ร่วมกับผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างในบันทึกเป็นหนังสือนี้ก็ตาม เมื่อเจตนาของคู่กรณีที่ประพฤติปฏิบัติต่อกันมาเห็นได้ว่า เป็นการชำระเงินโดยผ่านธนาคารเพื่อที่ธนาคารเอาไปหักกับหนี้สินที่ผู้รับจ้างมีอยู่ต่อธนาคารก่อน ส่วนที่เหลือยังเป็นของจำเลยอยู่เช่นนี้ ก็แปลไม่ได้ว่าบันทึกนี้เป็นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง คงเป็นเพียงหนังสือมอบให้รับเงินแทน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2514)
ย่อยาว
กรณีนี้เป็นเรื่องชั้นบังคับคดีโดยเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทฟูจิคาร์แมนนิวแฟคเจอริ่งแพ้คดีชำระเงินจำนวน ๖,๗๓๗,๑๔๐.๕๐ บาทและดอกเบี้ย กับค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายความแก่โจทก์แล้ว จำเลยอุทธรณ์และศาลอนุญาตให้จำเลยได้รับทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว แต่จำเลยไม่หาหลักประกันไปวางศาลตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอายัดเงินจำนวน ๑๓,๒๔๘,๕๙๓.๗๐ บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันที่บริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยจะได้รับจากกระทรวงกลาโหมผู้จ้างตามสัญญาก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันที่กระทรวงกลาโหมทำไว้กับบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งหมายอายัดเงิน ๑๓,๒๔๘,๕๙๓.๗๐ บาทตามคำขอของโจทก์ส่งถึงปลัดกระทรวงกลาโหมรับเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ และให้กระทรวงกลาโหมชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กองหมายภายใน ๕ วันนับแต่วันจ่ายเงินนี้
กระทรวงกลาโหมจึงยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๐ กระทรวงกลาโหมได้ทำสัญญาจ้างเหมาบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยสร้างโรงกลั่นน้ำมันเป็นราคาก่อสร้าง ๔๐๐,๙๔๐,๖๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๐๒ ได้มีการตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโดยตกลงให้บริษัทฟอร์เยซ์ เอ อา เตอร์ลิเอ เดอกองมังตรี อัวแซล เป็นผู้รับจ้างร่วมกับบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยและต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ได้ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยผู้รับจ้างโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทั้งหมดให้แก่ธนาคารเกษตร จำกัด ซึ่งต่อมาได้ควบกิจการเข้ากับธนาคารมณฑลจำกัด ใช้ชื่อว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นผู้รับเงินแต่ผู้เดียว โดยที่ได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างทั้งหมดให้แก่ธนาคารดังกล่าวไปก่อนที่ศาลมีคำสั่งอายัด บริษัทฟูจิคาร์ฯ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเหนือเงินค่าจ้างรายนี้ กระทรวงกลาโหมไม่มีภาระที่จะจ่ายเงินจำนวนใดให้กับบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลย หากแต่มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างทั้งหมดให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัด
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวน และระหว่างนัด กระทรวงกลาโหมผู้ร้องคัดค้านขอให้ศาลเรียกธนาคารกรุงไทย จำกัด เข้ามาเป็นผู้ร้องคัดค้านร่วมด้วย ศาลชั้นต้นอนุญาต ธนาคารกรุงไทย จำกัด จึงยื่นคำแถลงคัดค้านเป็นความสำคัญทำนองเดียวกันกับกระทรวงกลาโหมว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้อายัดเงินค่าก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันต่อกระทรวงกลาโหมเพราะเป็นเงินที่กระทรวงกลาโหมมีพันธะผูกพันต้องจ่ายให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดผู้ร้องคัดค้านร่วม ตามสัญญาลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ บริษัทฟูจิคาร์ฯจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดจากกระทรวงกลาโหมแล้วเหตุที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องก็เนื่องมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด มีพันธะต้องจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งได้ออกให้แก่บริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลย ในจำนวนเงินตามงวดที่ได้รับจากกระทรวงกลาโหม ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัด
ในการไต่สวน ศาลชั้นต้นได้เรียกและกระทรวงกลาโหมส่งบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ มาประกอบการพิจารณาแล้ว คู่ความแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเพียงประเด็นเดียวว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙ สิทธิเรียกร้องของจำเลยในเงินค่าก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ต่อกระทรวงกลาโหมนั้น ได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังธนาคารเกษตร จำกัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นธนาคารกรุงไทย จำกัดโดยสิ้นเชิงแล้ว โดยบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับลงวันที่๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ หรือยัง
ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้ว ธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้ร้องคัดค้านร่วม แถลงว่า จนบัดนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ยังถือว่าบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยและบริษัทฟอร์เยซ์ฯ ยังมีหนี้สินอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม ๔ บัญชี และธนาคารกรุงไทยยังคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมาตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้น และยังจะคงคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดไปจนกว่าธนาคารกรุงไทย จำกัดจะได้รับเงินจากกระทรวงกลาโหมมาเพื่อหักลดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้นและยังจะต้องเอามาชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารออกให้ตามคำขอของบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยกับบริษัทฟอร์เยซ์ฯ ด้วย หากธนาคารกรุงไทย จำกัด ไม่ได้เงินจากกระทรวงกลาโหมเลย หนี้ที่กล่าวแล้ว ถือว่าลูกหนี้ยังเป็นหนี้อยู่ ธนาคารจะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ชำระให้ต่อไป
คู่ความทุกฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ไม่มีความใดที่แสดงว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างจากจำเลยไปยังธนาคารกรุงไทย จำกัด มีแต่คำว่ามอบให้ธนาคารแต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเงินเกี่ยวกับค่าจ้างเหมาสร้างโรงงานกลั่นน้ำมัน จึงฟังว่า ข้อตกลงนี้เป็นเพียงให้ธนาคารเกษตร จำกัด รับเงินแทนบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำกัด เพื่อหักหนี้สินระหว่างบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยและธนาคารเกษตร จำกัด หาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ โจทก์จึงขออายัดได้ มีคำสั่งให้ยกคำคัดค้าน
กระทรวงกลาโหมผู้ร้องคัดค้านและธนาคารกรุงไทย จำกัด ผู้ร้องคัดค้านร่วมอุทธรณ์ว่า ผู้รับจ้างยินยอม และมอบให้ธนาคารเกษตร จำกัดแต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเงินเกี่ยวกับค่าจ้างเหมา และผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ธนาคารเกษตร จำกัด ข้อตกลงนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นแต่เพียงการมอบอำนาจให้รับเงินแทนเท่านั้น เพราะมีระบุว่าฝ่ายผู้รับจ้างยินยอมด้วย แสดงว่าได้ยอมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ธนาคารเกษตร จำกัดแล้วนอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้ยืนยันการค้ำประกันการชำระเงินของกระทรวงกลาโหมต่อธนาคารเกษตร จำกัด ไว้ด้วย ถ้าเป็นเพียงมอบอำนาจให้ธนาคารเกษตร จำกัด รับเงินแทน ก็ไม่จำเป็นที่กระทรวงการคลังจะต้องค้ำประกันหรือมีข้อตกลงใหม่แต่ประการใด นอกจากนี้ ธนาคารเกษตรจำกัด ยังได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในภายหลัง เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๐๗ เรียกว่าเป็นฝ่ายผู้รับเงิน จึงฟังได้ว่า ได้มีการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังธนาคารเกษตร จำกัด ตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ แล้ว พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น เพิกถอนคำสั่งอายัด
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างเหมาลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ระหว่างกระทรวงกลาโหมผู้ว่าจ้าง กับบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลย และบริษัทฟอร์เยซ์ฯผู้รับจ้าง มีความว่า
“๑. โดยที่ธนาคารเกษตร จำกัด จะต้องเป็นผู้รับภาระผูกพันทางการเงินตามสัญญาจ้างเหมาสร้างเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ตลอดทั้งการติดตั้งและการก่อสร้างโรงงานกลั่นกรองน้ำมันขนาด ๕๐๐๐ บาเรลต่อวัน ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับบริษัทฟูจิคาร์ฯ และบริษัทฟอร์เยซ์ฯ กระทรวงกลาโหมผู้ว่าจ้างและบริษัทฟูจิคาร์ฯ ผู้รับจ้าง และบริษัทฟอร์เยซ์ฯผู้รับจ้างได้ตกลงกันว่าผู้รับจ้างยินยอมและมอบให้ธนาคารเกษตร จำกัดแต่ผู้เดียวเป็นผู้รับเงินเกี่ยวกับค่าจ้างเหมา ฯลฯ จากผู้ว่าจ้างรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๐๐,๙๔๐,๘๐๐ บาท ฯลฯ และผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินจำนวน ๔๐๐,๙๔๐,๘๐๐ บาท ให้แก่ธนาคารเกษตร จำกัด”
ก่อนที่จะมีการทำสัญญาข้อตกลงฉบับนี้ บริษัทจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ถึงกระทรวงกลาโหมว่า “ในวิธีการชำระเงินเนื่องจากบริษัทได้มอบให้ธนาคารเกษตร จำกัด เป็นผู้รับเงินแทนบริษัทและธนาคารเกษตร จำกัด จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดในนามของกระทรวงกลาโหม ฯลฯ” และกระทรวงกลาโหมได้ตอบบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ ว่า “วิธีชำระเงิน กระทรวงกลาโหมจะชำระเงิน ฯลฯ โดยผ่านธนาคารเกษตรตามที่ได้ตกลงไว้แล้ว”ต่อมาวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ จึงได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมมอบให้ธนาคารเกษตร จำกัดเป็นผู้รับเงินค่าจ้างทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น หลังจากทำสัญญาเพิ่มเติมดังกล่าวบริษัทฟูจิคาร์ฯ จำเลยยังได้ทำหนังสือค้ำประกันเงินกู้ที่ผู้อื่นกู้ไปจากธนาคารเกษตร จำกัด อีกหลายฉบับซึ่งมีข้อความว่าเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันผู้ค้ำประกันยินยอมให้ธนาคารเกษตร จำกัด ได้รับชดใช้เงินกู้ ฯลฯโดยคิดหักจากเงินที่ธนาคารเกษตร จำกัด จะได้รับจากกระทรวงกลาโหมตามข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ฯลฯ ได้โดยสิ้นเชิงและทนายของธนาคารผู้ร้องคัดค้านร่วมแถลงว่าจนบัดนี้ธนาคารยังถือว่าบริษัทจำเลยยังมีหนี้สินอยู่กับธนาคารตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้กระทรวงกลาโหม ๔ บัญชี และธนาคารยังคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมาตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้นจนกว่าจะได้รับเงินจากกระทรวงกลาโหมมาเพื่อหักลดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น
ข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๓ นั้น จึงเป็นการมอบให้ธนาคารผู้คัดค้านร่วม รับเงินจากกระทรวงกลาโหมแทนจำเลย หาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ดังจะเห็นได้จากเจตนาของคู่กรณีตามเอกสารหมาย ข.ค. ที่จำเลยและกระทรวงกลาโหมติดต่อกันว่าการชำระเงินให้ชำระผ่านธนาคารเกษตร จำกัด ทั้งนี้ก็เพื่อที่ธนาคารจะได้เอาไปหักกับหนี้สินที่จำเลยมีอยู่ต่อธนาคารก่อน ดังที่ธนาคารผู้คัดค้านร่วมได้แถลงต่อศาล เป็นการรักษาผลประโยชน์ของธนาคารผู้คัดค้านร่วมถ้ายังมีเงินเหลือ ธนาคารก็ต้องคืนให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยถือว่าเงินค่าจ้างที่เหลือนั้น ยังเป็นของจำเลยอยู่ จึงได้เอาไปเป็นหลักประกันทำการค้ำประกันให้แก่ผู้ที่กู้เงินจากธนาคารผู้คัดค้านร่วม ตามเอกสารดังกล่าวข้างต้นแม้จะมีข้อความว่า ผู้รับจ้างตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ธนาคารเกษตรจำกัด ก็หาทำให้การมอบให้รับเงินแทนกลายเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องขึ้นมาแต่ประการใดไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาเป็นพับ