คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกวิวาทกับบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง จำเลยจึงใช้ระเบิดขวดขนาดเท่ากล่องไม้ขีดไฟโยนไปยังกลุ่มคนที่วิวาทกับจำเลย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับบาดเจ็บเพราะถูกสะเก็ดระเบิด เช่นนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าระเบิดขวดนั้นมีกำลังอ่อน ไม่สามารถทำให้บุคคลถึงแก่ความตายได้โดยแน่แท้ แต่จำเลยเล็งเห็นต่อผลว่าสะเก็ดระเบิดอาจทำให้ผู้อื่นถึงตายได้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีระเบิดขวดและพกพาระเบิดนั้นไปในทางสาธารณะและได้ใช้ระเบิดขวดขว้างไปในกลุ่มคนโดยเล็งเห็นผลว่าเมื่อเกิดระเบิดสะเก็ดระเบิดอาจถูกคนถึงแก่ความตายได้ และสะเก็ดระเบิดได้ถูกนางพรทิพย์และนางวัฒนาผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๘๐, ๓๗ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๘, ๗๔
จำเลยให้การว่า จำเลยขว้างระเบิดจริงเพื่อป้องกันตัว ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ใดและเป็นระเบิดขนาดเล็กไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๘, ๗๔ กระทงหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ กระทงหนึ่งและมาตรา ๒๙๕ อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ วางโทษจำคุก ๓ ปี จำเลยอายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ ๑ ใน ๓จำคุก ๒ ปี คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๓ ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๘, ๗๔ กระทงหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๘๑ กระทงหนึ่ง และมาตรา ๓๗๑อีกกระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘,๘๐, ๘๑ ซึ่งเป็นกระทงหนัก จำเลยมีอายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้๑ ใน ๓ จำคุก ๒ ปี คำให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้อีก๑ ใน ๓ คงจำคุก ๑ ปี ๔ เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
จำเลยฎีกาว่าไม่มีเจตนาฆ่า และขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าระเบิดขวดที่จำเลยใช้ขว้างไปยังกลุ่มพวกที่วิวาทกับจำเลยจะบรรจุอยู่ในขวดแบน ๆ ขนาดเท่ากล่องไม้ขีดไฟแต่จำเลยย่อมรู้หรือควรรู้ได้ว่าถ้าระเบิดขวดที่จำเลยขว้างไปนั้นระเบิดสะเก็ดระเบิดไปถูกผู้ใด อาจทำให้ผู้นั้นได้รับอันตรายถึงตายได้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลที่จะพึงบังเกิดขึ้น จึงต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าแต่เมื่อระเบิดดังกล่าวไม่อาจทำให้ผู้ถูกสะเก็ดระเบิดถึงแก่ความตายได้เพราะมีกำลังอ่อนกรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑โดยถือว่าจำเลยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิด
พิพากษายืน

Share