คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (14) คำว่า”โจทก์ หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน” เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ก็ย่อมเป็น “คู่ความ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (15) จึงชอบที่จะระบุพยานหรือสืบพยานเพิ่มเติมได้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ 228

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันชกต่อยทำร้ายร่างกายนายนาแรนซิงห์ จาวลา ผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยที่ ๑ ผู้เดียวได้กระทำผิดจริงพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ จำคุก๑ เดือน ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ปรึกษาแล้ว เห็นว่าอุทธรณ์โจทก์ร่วมเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๐ จึงให้ยกอุทธรณ์โจทก์ร่วม
ส่วนคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ข้อ ๔(๑) ที่ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างและนำสืบพยานเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากพยานหลักฐานที่ผู้ว่าคดีอ้างและนำสืบไว้แล้วได้หรือไม่ ส่วนฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๑๔) คำว่า “โจทก์หมายความถึง พนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน” เมื่อผู้เสียหายเป็นโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวก็ย่อมเป็น “คู่ความ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒(๑๕) จึงชอบที่จะระบุพยานหรือสืบพยานเพิ่มเติมได้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ และ ๒๒๘
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share