แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิงผู้เสียหาย 2 นัดถูกที่ข้อมือขวา และที่ชายโครงหรือรักแร้ด้านหน้าข้างขวาถึงกระดูกซี่โครงหัก แม้จำเลยจะมีเจตนายิงเพื่อชิงทรัพย์ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายด้วย เพราะจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า กระสุนปืนที่จำเลยยิงอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ตาย การกระทำของจำเลยจึงต้องเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย เพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยได้กระทำการชิงทรัพย์เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 อีกบทหนึ่ง หาใช่เป็นเพียงความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม เท่านั้นไม่
อัตราโทษสำหรับความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289 ที่จะพึงวางแก่จำเลยมีสถานเดียวคือ ประหารชีวิต แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 52(1) ให้จำคุก16 ปี เห็นได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้ลดมาตราส่วนโทษที่จะลงตามมาตรา 289 เสียหนึ่งในสามตามมาตรา 80 และ 52(1)ให้แล้ว
ตามมาตรา 51 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะเพิ่มโทษให้จำเลยให้ต้องจำคุกเกินกว่า 20 ปีไม่ได้ แต่ถ้าศาลวางโทษจำคุก 20 ปี เพิ่มโทษขึ้นไปแล้วลดลงคงจำคุกไม่เกิน 20 ปีได้
การที่ผู้กระทำผิดมาแล้วกลับมากระทำผิดอีกจะต้องถูกเพิ่มโทษนั้น ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 93 หาใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะเพิ่มหรือไม่เพิ่มตามที่ศาลเห็นสมควรไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ลักปืนสั้นของพลตำรวจบุญเยี่ยมผู้เสียหายไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักและพาทรัพย์นั้นไป แล้วจำเลยได้ใช้กำลังกายและอาวุธปืนที่จำเลยลักไป ชกต่อยและยิงผู้เสียหายหลายทีขณะที่ผู้เสียหายติดตามไปทัน และจะเข้าจับกุมจำเลย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสถึงทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วัน และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ทั้งนี้ โดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะกระสุนที่จำเลยใช้ยิงพลาดจากส่วนสำคัญของร่างกาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วก็เพื่อที่จำเลยจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยชิงทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานชิงทรัพย์ และจำเลยบังอาจมีและใช้อาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกฐานทำร้ายร่างกายสาหัสมาแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก ไม่เข็ดหลาบ ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙, ๒๘๘, ๒๘๙, ๒๙๐, ๘๐,๙๐ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ กับสั่งคืนของกลางแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดชิงทรัพย์ กับความผิดฐานมีและใช้อาวุธปืนกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๓๙ วรรค ๓ และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันแต่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๒๙๗ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙วรรค ๓ ซึ่งเป็นกระทงที่หนักที่สุดกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ จำคุกจำเลย ๘ ปี จำเลยพ้นโทษมาแล้ว มากระทำผิดอีกในเวลา๓ ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ไม่ใช่ ๙๓ ดังโจทก์ขอ หนึ่งในสามเป็นจำคุก ๑๐ ปี ๘ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพโดยดีเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกจำเลย ๕ ปี ๔ เดือน คืนของกลางแก่ผู้เสียหาย
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นบทหนัก จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษลงอีก
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙, ๒๘๘, ๒๘๙, ๒๙๗ และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และมาตรา ๕๒(๑) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๙๐ ให้จำคุก ๑๖ ปี เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบอีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ เป็นจำคุก ๒๔ ปี จำเลยรับสารภาพโดยดีเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘คงจำคุก ๑๒ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า
๑. การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรค ๓เท่านั้น เพราะจำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ จึงไม่ชอบ
๒. ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙โดยมิได้ลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา ๘๐ ลงหนึ่งในสามให้จำเลย ไม่ถูกต้อง
๓. ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยเป็น ๒๔ ปี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๑ และการที่จะเพิ่มโทษหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษเพิ่มเป็นการรุนแรงเกินไป
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิงผู้เสียหาย ๒ นัด ถูกที่ข้อมือขวาและที่ชายโครงหรือรักแร้ด้านหน้าข้างขวาถึงกระดูกซี่โครงหัก แม้จำเลยจะมีเจตนายิงเพื่อชิงทรัพย์ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายด้วย เพราะจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า กระสุนปืนที่จำเลยยิงอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ตาย การกระทำของจำเลยจึงต้องเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย เพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่จำเลยได้กระทำการชิงทรัพย์ เพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานชิงทรัพย์ที่จำเลยได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐อีกบทหนึ่งหาใช่เป็นเพียงความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรค ๓เท่านั้น ดังฎีกาข้อ ๑ ของจำเลยไม่
ตามฎีกาข้อ ๒ ของจำเลยนั้น เห็นว่าอัตราโทษสำหรับความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ที่จะพึงวางแก่จำเลยมีสถานเดียวคือประหารชีวิตแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และมาตรา ๕๒(๑)ให้จำคุก ๑๖ ปี ก็เห็นได้ว่าศาลอุทธรณ์ได้ลดมาตราส่วนโทษที่จะลงตามมาตรา ๒๘๙ เสียหนึ่งในสามตามมาตรา ๘๐ และ ๕๒(๑) ให้แล้ว
ส่วนฎีกาข้อ ๓ เกี่ยวกับการเพิ่มโทษจำเลยนั้น เห็นว่ามาตรา ๕๑แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะเพิ่มโทษให้จำเลยให้ต้องจำคุกเกินกว่า ๒๐ ปีไม่ได้ แต่ถ้าศาลวางโทษจำคุก ๒๐ ปี เพิ่มโทษขึ้นไปแล้วลดลงคงจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปีได้ และโดยเฉพาะโทษของจำเลยในคดีนี้ เมื่อเพิ่มขึ้นไปแล้วลดลงคงจำคุก ๑๒ ปี มิได้เกินกว่า ๒๐ ปีจะถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา ๕๑ ดังจำเลยฎีกาไม่ได้
อนึ่ง การที่ผู้กระทำผิดมาแล้วกลับมากระทำผิดอีก จะต้องถูกเพิ่มโทษนั้น ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๒, ๙๓ หาใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่เพิ่มหรือไม่เพิ่มตามที่ศาลเห็นสมควรไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา ๙๓อันเป็นไปตามบทบังคับแห่งกฎหมาย จึงหาใช่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษเพิ่มเป็นการรุนแรงเกินไปดังฎีกาจำเลยไม่
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.