คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำหนังสือสัญญาไว้ให้แก่โจทก์ในการที่จำเลยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกามีกำหนด 2 ปี โดยจำเลยจะได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่ม ฯลฯ ตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษา เมื่อจำเลยกลับมาจากต่างประเทศแล้ว จำเลยจะทำงานให้โจทก์ไม่ต่ำกว่า 4 ปี. ถ้าหากจำเลยผิดสัญญาจำเลยยินยอมชดใช้เงินที่ได้รับไปจนครบ ต่อมาจำเลยขอลาศึกษาต่ออีก 2 ปี โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าอนุมัติให้ลาต่ออีก 2 ปีต่อจากที่ได้รับอนุมัติครั้งแรก ได้ส่งแบบฟอร์มสัญญากับสัญญาค้ำประกันไปให้จำเลยเพื่อกรอกข้อความและทำสัญญาไว้เป็นหลักฐานให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ยอมเซ็นสัญญา ผลจึงมีว่าจำเลยคงได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษามีกำหนด 2 ปีในตอนแรกเท่านั้น ต่อมาปรากฏว่าจำเลยยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่หมดกำหนดวันลา และโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปพบกับเลขาอนุกรรมการทำการสอบสวนฐานจำเลยขัดคำสั่ง ฯลฯ แต่จำเลยไม่มาตามกำหนด โจทก์จึงมีคำสั่งปลดจำเลยจึงเห็นได้ว่าโจทก์สั่งปลดจำเลยภายหลังที่จำเลยยื่นใบลาออกแล้ว ดังนี้ แม้จำเลยจะไม่ได้รับหนังสือของโจทก์ซึ่งมีความว่า ไม่อนุมัติให้จำเลยลาออก การที่จำเลยขอลาออกเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยเองเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญา
ป.พ.พ.มาตรา 165(9) เป็นบทบัญญัติในเรื่องคนงาน ฯลฯ เรียกเอาค่าจ้างและเงินอื่นอันได้ตกลงกันว่าจะจ่ายให้แทนหรือให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินจ้าง รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป กับนายจ้างเรียกเอาเงินเช่นว่านั้นอันตนได้จ่ายล่วงหน้าไปแล้วนั้นก็ด้วยเหมือนกัน ส่วนมาตรา166 เป็นเรื่องการเรียกเอาเงินค้างจ่ายคือเงินปีเงินเดือน ฯลฯ โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยฐานผิดสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้ซึ่งไม่ใช่เงินเดือนหรือเงินจ้างที่โจทก์ทดรองให้จำเลยไป ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นพนักงานเทศบาลตำแหน่งช่างโทจำเลยทำหนังสือสัญญาไว้ให้แก่โจทก์ในการที่โจทก์ได้ให้จำเลยไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกามีกำหนด ๒ ปี โดยได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มรวมทั้งเงินอุดหนุนเป็นรายปี ตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาว่าเมื่อจำเลยกลับมาแล้ว จำเลยจะทำงานให้โจทก์ไม่ต่ำกว่า ๔ ปีและถ้าหากจำเลยผิดสัญญา จำเลยยินยอมชดใช้เงินแก่โจทก์จนครบจำเลยรับเงินจากโจทก์ คือ เงินอุดหนุนและเงินเดือนและเงินเพิ่มรวม ๕๐,๙๕๔.๘๔ บาท จำเลยศึกษาครบกำหนด ไม่ยอมกลับมาทำงานให้แก่โจทก์ จำเลยจึงผิดสัญญา ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้ปลดจำเลยออกจากพนักงานเทศบาลจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าที่จำเลยไม่กลับมาทำงาน จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๕๐,๙๕๔.๘๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
คดีได้ความว่า ระหว่างจำเลยศึกษาอยู่นั้น จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ขอลาต่ออีก ๒ ปี ตามเอกสารหมาย ล.๑๖โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งไปให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย ล.๑๔ ว่าทางจังหวัดแจ้งว่ากระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วอนุมัติให้จำเลยศึกษาและฝึกงานต่อมีกำหนด ๒ ปี ต่อจากที่ได้รับอนุมัติครั้งแรกและให้เทศบาลนครกรุงเทพทำสัญญาเป็นหลักฐานว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะกลับมาปฏิบัติงานให้เทศบาลอีก ๓ เท่าของระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติต่อจากสัญญาครั้งก่อน หากผิดสัญญาให้ชดใช้เงินคืนเป็น ๓ เท่าของเงินเดือนและเงินที่เทศบาลนครกรุงเทพออกให้ และส่งแบบฟอร์มกับสัญญาค้ำประกันไปให้จำเลยเพื่อกรอกข้อความและทำสัญญาไว้เป็นหลักฐานให้แก่โจทก์ตามที่แจ้งไว้ แล้วส่งให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์อนุมัติให้จำเลยศึกษาต่อ แต่จำเลยต้องทำสัญญาให้โจทก์ตามแบบสัญญาที่โจทก์ส่งไปให้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมเซ็นสัญญา การอนุมัติให้จำเลยลาต่อก็เป็นอันระงับไปผลจึงมีว่าจำเลยคงได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษามีกำหนด ๒ ปีเท่านั้นจำเลยได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่หมดกำหนดวันลาต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๕ แจ้งให้จำเลยไปพบกับเลขาอนุกรรมการวิสามัญเพื่อให้กรรมการทำการสอบสวนฐานจำเลยขัดคำสั่งของเทศบาลและละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่จำเลยไม่มาตามกำหนดโจทก์จึงมีคำสั่งปลดจำเลย จึงเห็นได้ว่าโจทก์สั่งปลดจำเลยภายหลังที่จำเลยยื่นใบลาออกแล้วแม้จำเลยจะอ้างว่าไม่ได้รับเอกสารหมาย ล.๖ คือหนังสือของโจทก์ซึ่งมีความว่า โจทก์ไม่อนุมัติให้จำเลยลาออกก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยขอลาออกเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยเองเป็นฝ่ายผิดสัญญา มิได้กลับไปทำงานให้โจทก์เมื่อครบกำหนดที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญา
ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๙) และมาตรา ๑๖๖ เพราะจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์เกิน ๕ ปี แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๙) เป็นบทบัญญัติในเรื่องคนงาน ผู้ช่วยงาน ลูกมือฝึกหัด คนประจำโรงงานหัตถกรรม กรรมกรรายวันและช่างฝีมือ เรียกเอาเงินจ้างและเงินอื่นอันได้ตกลงกันว่าจะจ่ายให้แทนหรือให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินจ้าง รวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป กับนายจ้างเรียกเอาเงินเช่นว่านั้นอันตนได้จ่ายล่วงหน้าให้ไปแล้วนั้นก็ด้วยเหมือนกัน ส่วนมาตรา ๑๖๖ เป็นเรื่องการเรียกเอาเงินค้างจ่าย คือ เงินปี เงินเดือน ฯลฯ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยฐานผิดสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเงินเดือนหรือเงินจ้างที่โจทก์ทดรองให้จำเลยไปฟ้องของโจทก์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share