แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยและผู้ค้ำประกันจำเลยที่โจทก์นำยึดไว้ จำเลยและผู้ค้ำประกันยื่นคำร้องคัดค้านให้ยกเลิกการขายและขอให้ขายใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว จำเลยก็อุทธรณ์ฎีกา ทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจจ่ายเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ได้ การที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ถือว่าการบังคับคดียังไม่เสร็จบริบูรณ์จนกว่าจะได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยจากเงินที่ขายทอดตลาดได้ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าเงินต้นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ จนถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คิดดอกเบี้ยดังกล่าวให้โจทก์นั้น โจทก์ไม่จำต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 8 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพราะมิใช่เป็นเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่เป็นกรณีวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อใดและจำนวนเท่าใด กรณีจึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดนัด โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๑ ออกขายทอดตลาด จำเลยที่ ๑ ได้ร้องต่อศาลชั้นต้นว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยไม่ชอบ ขอให้ยกเลิกการขาย แล้วดำเนินการขายใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ ๑ ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน โจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินนับแต่วันที่อายัดเงินในคดีอื่นมาชำระหนี้คดีนี้จนถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยดังกล่าว
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน ๔ แปลง นับแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันที่อายัดเงินจนถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๔ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ ๑ และผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ที่ยึดไว้จำนวน ๔ แปลง การที่จำเลยที่ ๑ และผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและขอให้ขายใหม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็อุทธรณ์ฎีกา ทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจจ่ายเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์รับไปได้ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา การบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่เสร็จสมบูรณ์จนกว่าจะได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนั้น นับแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันที่อายัดเงินของจำเลยที่ ๑ จนถึงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินที่ขายทอดตลาดได้ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าเงินต้นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม ส่วนที่จำเลยที่ ๑ แก้ฎีกาว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน ๘ วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสองนั้นเห็นว่า เรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่เป็นกรณีที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เมื่อใดและจำนวนเท่าใด กรณีจึงไม่ต้องตามบทมาตราดังกล่าว
พิพากษากลับว่า ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น