คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5285/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LIGHT MAN (ไลท์ แมน) ของโจทก์ไว้ 4 แบบ ซึ่งทั้งสี่แบบนี้ตัวอักษรขนาดต่างกันและลักษณะของตัวอักษรก็ต่างกันด้วยตัวอักษรคำว่า LIGHT และ MAN นั้นแยกกัน เว้นแต่ตามแบบที่ 3 เท่านั้นที่ตัวอักษรอยู่ติดกันและมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่าง ตามแบบที่ 2 มีรูปศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกอยู่ระหว่างตัวอักษร LIGHT และ MAN ส่วนตามแบบที่ 4 นั้นเป็นรูปสลากกระเป๋าหลังกางเกง มีคำว่า LIHGT MAN อยู่ด้านบนคำว่า FOR WORK AND PLAY และมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่างใช้กับกางเกงยีน ส่วนเครื่องหมายการค้า LION MAN (ไลออน แมน) ที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนนั้น ตัวอักษรอยู่ใต้ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตซึ่งอยู่ติดกันโดยศีรษะคนอยู่ด้านขวาส่วนหัวสิงโตอยู่ด้านซ้าย ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตนั้นมีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรประมาณ 5-6 เท่า ส่วนภาพศีรษะคนสวมหมวกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามแบบที่ 2 นั้นมีขนาดเล็กเท่าตัวอักษร และตามแบบที่ 3 กับแบบที่ 9 มีขนาดเล็กกว่าตัวอักษรมาก เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นที่ตัวอักษรคำว่า ไลท์ แมน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นให้ความสำคัญที่ตัวอักษร ไลออน แมน เท่าเทียมกับภาพประกอบรูปศีรษะคนที่ติดกับหัวสิงโต โดยมีเจตนาให้ภาพดังกล่าวเป็นคำอธิบายความหมายของตัวอักษร คือหมายความว่ามนุษย์สิงโต ส่วนภาพในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีภาพศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกนั้น มิได้อธิบายความหมายของคำว่า ไลท์ แมน แต่ประการใด สำหรับตัวอักษรคำว่า แมน ที่เหมือนกันนั้นก็เป็นคำสามัญ ไม่ใช่เฉพาะและมีผู้นำไปใช้กับสินค้าหลายประเภท ส่วนคำว่าไลท์ กับคำว่า ไลออน นั้นมีความหมายแตกต่างกันมาก ทั้งคำว่า ไลท์ ก็อ่านออกเสียงพยางค์เดียวส่วนคำว่า ไลออน อ่านออกเสียงสองพยางค์ เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่เสื้ออันเป็นสินค้าของโจทก์กับที่เสื้ออันเป็นสินค้าของจำเลยแล้ว เห็นได้ชัดว่าลักษณะของตัวอักษร สี แบบ และขนาดแตกต่างกันมาก เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนกล่าวได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ผลิตและจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มแต่งกายกางเกงยีนภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไลท์ แมน” (LIGHT MAN) ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในจำพวก ๓๘ (เครื่องนุ่งห่มและแต่งกาย) จำนวนหลายรูป เช่น คำขอเลขที่ ๖๐๗๘๗ เป็นรูปตัวอักษรโรมันคำว่า ไลท์ แมน คำขอที่ ๖๕๒๘๐ เป็นรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ระหว่างอักษรโรมันคำว่า ไลท์ และแมน คำขอที่ ๗๓๓๔๘ เป็นรูปอักษรโรมัน คำว่าไลท์แมน อยู่ด้านบนและรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่าง คำขอที่ ๘๒๑๑๗ เป็นรูปสลากกระเป๋าหลังกางเกง มีอักษรโรมันคำว่า ไลท์ แมน อยู่ด้านบนคำว่า FOR WORK AND PLAY และเส้นโค้งคู่อยู่ตรงกลางและรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่าง จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวก ๓๘ เช่นเดียวกันโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ไลออน แมน” (LION MAN) ตามคำขอที่ ๑๒๒๗๕๕ ซึ่งคำว่าไลออน แมน กับ ไลท์ แมน มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ทั้งด้านตัวอักษรที่ขึ้นต้นด้วยตัวแอลและลงท้ายด้วยแมนเหมือนกัน การออกเสียงเรียกขานก็คล้ายกันมาก มีรูปศีรษะคนเช่นกัน โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ และให้ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้ เกิดความสับสนหลงผิด และเข้าใจผิดว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นเป็นของโจทก์ หรือโจทก์ มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ขอให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ ๑๒๒๗๕๕ เสีย
จำเลยให้การว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนกล่าวได้ว่าเป็นการลวง สาธารณชนให้สับสนหลงผิดหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า LIGHT MAN (ไลท์ แมน) ของโจทก์ไว้ ๔ แบบ ด้วยกัน ตามสำเนาหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ ทั้งสี่แบบนี้ ตัวอักษรขนาดต่างกันและลักษณะของตัวอักษรก็ต่างกันด้วย ตัวอักษรคำว่า LIGHT และ MAN นั้นแยกกัน เว้นแต่ตามเอกสารหมาย จ.๔ เท่านั้นที่ตัวอักษรอยู่ติดกันและมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่างตามเอกสารหมาย จ.๓ มีรูปศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกอยู่ระหว่างตัวอักษร LIGHT และ MAN ส่วนตามเอกสารหมาย จ.๕ นั้นเป็นรูปสลากกระเป๋าหลังกางเกง มีคำว่า LIGHT MAN อยู่ด้านบนคำว่า FOR WORK AND PLAY และมีรูปศีรษะคนสวมหมวกอยู่ด้านล่างใช้กับกางเกงยีน ส่วนเครื่องหมายการค้า LION MAN (ไลออน แมน) ที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนนั้น ตัวอักษรอยู่ใต้ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตซึ่งอยู่ติดกันโดยศีรษะคนอยู่ด้านขวาส่วนหัวสิงโตอยู่ด้านซ้าย ภาพศีรษะคนและหัวสิงโตนั้นมีขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรประมาณ ๕-๖ เท่า ส่วนภาพศีรษะคนสวมหมวกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๓ นั้นมีขนาดเล็กเท่าตัวอักษร และตามเอกสารหมาย จ.๔ กับ จ.๕ มีขนาดเล็กกว่าตัวอักษรมากเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายแบบดังกล่าวเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยแล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นที่ตัวอักษรคำว่า ไลท์ แมน ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นให้ความสำคัญที่ตัวอักษร ไลออน แมน เท่าเทียมกับภาพประกอบรูปศีรษะคนที่ติดกับหัวสิงโต โดยมีจตนาให้ภาพดังกล่าวเป็นคำอธิบายความหมายของตัวอักษรคือหมายความว่ามนุษย์สิงโต ส่วนภาพในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีภาพศีรษะคนขนาดเล็กสวมหมวกนั้น มิได้อธิบายความหมายของคำว่า ไลท์ แมน แต่ประการใด สำหรับตัวอักษรคำว่าไลท์ แมน กับคำว่า ไลออน แมน ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีคำว่า แมน เหมือนกันนั้น ก็เห็นได้ว่าคำว่าแมนนั้นเป็นคำสามัญ ไม่ใช่คำเฉพาะและมีผู้นำไปใช้กับสินค้าหลายประเภทรวมทั้งนิตยสารฉบับหนึ่งด้วย ส่วนคำว่า ไลท์ กับคำว่า ไลออน นั้นมีความหมายแตกต่างกันมาก ทั้งคำว่า ไลท์ก็อ่านออกเสียงพยางค์เดียว ส่วนคำว่า ไลออน อ่านออกเสียงสองพยางค์ เมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่เสื้อหมาย จ.๒๗ และ ล.๑ อันเป็นสินค้าของโจทก์กับที่เสื้อหมาย จ.๒๘ และ ล.๒๐ ถึง ล.๒๓ อันเป็นสินค้าของจำเลยแล้ว เห็นได้ชัดว่าลักษณะของตัวอักษร สี แบบ และขนาดแตกต่างกันมาก เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนกล่าวได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน ให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์
พิพากษายืน

Share