คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4358/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศ. กับจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้ในระหว่างเป็นสามีภรรยากันว่า ศ. จะไม่นำเอาสินบริคณห์ใด ๆ ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือจะมีขึ้นในอนาคตไปจำหน่ายหรือทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในการอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวและการศึกษาของบุตรอันเกิดจากจำเลย จะไม่เกี่ยวข้องสร้างภาระผูกพัน หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินซึ่งมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลย สัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญามีอำนาจกระทำได้ เพียงแต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยาทั้งการทำสัญญาจำกัดสิทธิบางอย่างในระหว่างกันเองในเรื่องทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของครอบครัวด้วยความสมัครใจและการสละทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสามีภริยาด้วยความสมัครใจ ก็ไม่เป็นการขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 114 และเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตาม มาตรา 1336 จึงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายใช้บังคับได้
ทรัพย์พิพาทมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งตามสัญญาระหว่าง ศ. กับจำเลย ระบุว่า ศ. จะไม่เข้าเกี่ยวข้องหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่า ศ. ได้สละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยแล้ว ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ศ. ไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดและไม่เป็นมรดกของ ศ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายศรีสุเทพ รอดริปู หรือนิงสานนท์ มีภริยา ๒ คน คือจำเลยและนางยอดเรือน ละออกิจ นายศรีเทพจดทะเบียนสมรสกับจำเลย มิได้จดทะเบียนสมรสกับนางยอดเรือน นายศรีสุเทพกับนางยอดเรือนมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือเด็กชายอภิชิตและเด็กหญิงอภิรดี โดยนายศรีสุเทพได้จดทะเบียนรับรองบุตรทั้ง ๒ คน ต่อมานายศรีสุเทพได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาท คือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นให้แก่เด็กชายอภิชิตและเด็กหญิงอภิรดี เมื่อนายศรีสุเทพถึงแก่กรรม ศาลได้มีคำสั่งตามคำร้องของนางยอดเรือนให้ตั้งนางยอดเรือนเป็นผู้จัดการมรดก นางยอดเรือนได้มีหนังสือขอให้จำเลยจัดส่งเอกสารต่าง ๆ คืน โฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ทะเบียนรถยนต์ พร้อมส่งมอบสิ่งปลูกสร้างและรถยนต์เพื่อโอนใส่ชื่อทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเอกสารดังกล่าวพร้อมที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์เพื่อโอนใส่ชื่อเด็กชายอภิชิตและเด็กหญิงอภิรดีผู้รับมรดกหรือในฐานะทายาทโดยธรรม
จำเลยให้การว่า นายศรีสุเทพได้ทำสัญญาระหว่างสมรสกับจำเลยจะไม่นำสินบริคณห์ไปทำนิติกรรมใด ๆ และจะไม่เกี่ยวข้อง สร้างภาระผูกพันหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินซึ่งมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์อยู่ จึงต้องถือว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลย นายศรีสุเทพไม่อาจนำไปทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งส่วนในทรัพย์มรดกของนายศรีสุเทพให้แก่โจทก์คนละ ๖๗,๙๔๔ บาท รวมเป็นเงิน ๑๓๕,๘๘๘ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่นายศรีสุเทพกับจำเลยทำไว้ในระหว่างเป็นสามีภริยาเป็นโมฆะหรือไม่ สัญญาดังกล่าวระบุว่า “……….ระหว่างนายศรีสุเทพ รอดริปู (สามี) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าคู่สัญญาที่ ๑ กับนางสราญ รอดริปู (ภรรยา) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าคู่สัญญาที่ ๒ โดยมีข้อความสัญญาดังต่อไปนี้
๑. คู่สัญญาที่ ๑ จะไม่นำเอาสินบริคณห์ใด ๆ ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือจะมีขึ้นในอนาคตไปจำหน่ายหรือทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในการอุปการะเลี้ยงดู รักษาพยาบาลครอบครัวและการศึกษาของบุตร (อันเกิดจากคู่สัญญาที่ ๒)
๒. คู่สัญญาที่ ๑ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องสร้างภาระผูกพันหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งมีชื่อของคู่สัญญาที่ ๒ มีกรรมสิทธิ์อยู่
๓. อย่างไรก็ตามสัญญาในข้อที่ ๑ และ ๒ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ ถ้าหากคู่สัญญาที่ ๒ ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
๔. ………….”
เห็นว่าข้อสัญญาทั้ง ๓ ข้อ ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ คู่สัญญามีอำนาจกระทำได้ เพียงแต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยา ทั้งการทำสัญญาจำกัดสิทธิบางอย่างในระหว่างกันเองในเรื่องทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของครอบครัวด้วยความสมัครใจก็ดี การสละทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสามีภริยาด้วยความสมัครใจก็ดี ก็ไม่เป็นการขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๑๑๔ และเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามมาตรา ๑๓๓๖ สัญญาตามเอกสารหมาย ล.๘ จึงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายใช้บังคับได้
มีปัญหาต่อไปว่า ทรัพย์พิพาทเป็นมรดกของนายศรีสุเทพหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าทรัพย์พิพาททั้งหมดมีชื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และตามสัญญาระหว่างนายศรีสุเทพกับจำเลย ข้อ ๒ ระบุว่า นายศรีสุเทพจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ข้อสัญญาดังกล่าวนี้ถือได้ว่านายศรีสุเทพได้สละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยแล้ว และนายศรีสุเทพไม่เคยบอกล้างสัญญาดังกล่าว ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย นายศรีสุเทพไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ใด และทรัพย์พิพาทไม่เป็นมรดกของนายศรีสุเทพ
พิพากษายืน

Share