คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ จำนวนหนี้และอัตราดอกเบี้ยย่อมเป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีข้อตกลงให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้จึงเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ไม่ได้ มูลหนี้ประธานเกิดจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีรวม5 ฉบับแต่ละฉบับกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่างกัน โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ละฉบับ ฉบับที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำที่สุดร้อยละ 15 ต่อปี สูงที่สุดร้อยละ 18.5 ต่อปีแต่โจทก์ฟ้องรวมกันมาโดยไม่แยกให้แน่ชัดว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับใด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เท่าใดนอกจากนี้โจทก์มิได้นำสืบถึงประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วยโจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 15 ต่อปี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์รวม 5 ครั้ง ที่ 1 ครั้งที่ 2 รวมยอดเงินกู้ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ครั้งที่ 3ครั้งที่ 4 รวมยอดเงินกู้ 130,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18ต่อปี และครั้งที่ 5 ยอดเงินกู้ 80,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ18.5 ต่อปี การกู้เบิกเกินบัญชี ทั้ง 5 ครั้ง จำเลยตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ถ้าไม่ชำระยอมให้รวมเป็นเงินต้นต่อไปตามวิธีการของธนาคาร จำเลยที่ 2 เป็นผู้คำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 5 และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำที่ดินมาจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ถ้าขายทรัพย์ที่จำนองได้ไม่พอชำระหนี้โจทก์ จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองมาขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกตกลงเรื่องแก้ไขหนี้อันจำนองเป็นประกันโดยแก้ไขดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2529 เป็นเงิน 418,771.38 บาทขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 418,771.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์แล้วเสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระหนี้ดังกล่าวไม่ครบถ้วน ขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน418,441.38 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1ที่มีอยู่ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 จำนวนเงิน 414,679.32 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในยอดเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2529เมื่อคิดได้เป็นยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินต่อไป สำหรับคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 3สิงหาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้หักเงินที่จำเลยที่ 1นำเข้าบัญชีเดินสะพัดในวันที่ 29 สิงหาคม 2529 จำนวน 850 บาทออกชดใช้เป็นค่าดอกเบี้ยที่ไม่ทบต้นให้จำเลยที่ 1 ก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นต้นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์รวม 5 ครั้ง ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2จำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ครั้งที่ 3ครั้งที่ 4 จำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ส่วนครั้งที่ 5 จำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปีเพื่อเป็นประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองได้นำที่ดินมาจำนองไว้แก่โจทก์ ในระหว่างจำเลยที่ 1เดินบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ จำเลยทั้งสองได้ขอเพิ่มเติมวงเงินจำนองกับโจทก์รวม 2 ครั้ง และตกลงยินยอมให้โจทก์เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจำนองจากร้อยละ 15 ต่อปีเป็นร้อยละ 19 ต่อปีได้ ปัญหาว่าโจทก์จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ระหว่างผิดนัดได้หรือไม่ เห็นว่า หนี้รายนี้เกิดจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1ได้หรือไม่ และอัตราอย่างไร ต้องเป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นมูลหนี้ประธานเท่านั้น ส่วนสัญญาจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อนผู้อื่นได้ จำนวนหนี้และอัตราดอกเบี้ยย่อมเป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นประธาน หากมูลหนี้เดิมไม่มีหรือระงับด้วยประการใดแล้วก็บังคับตามสัญญาจำนองไม่ได้สัญญาเบิกเกินบัญชีไม่มีข้อตกลงให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้จึงเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ไม่ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าให้เพิ่มดอกเบี้ยสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาจำนอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น คงเป็นปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละเท่าไรปัญหานี้ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า มูลหนี้อันเกิดจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมีรวม 5 ฉบับ แต่ละฉบับกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่างกันโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ละฉบับและฉบับที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำสุดร้อยละ 15 ต่อปี สูงที่สุดอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี แต่โจทก์ฟ้องรวมกันมาโดยไม่แยกให้แน่ชัดว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับใด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เท่าใดและไม่นำสืบให้ปรากฏ ศาลจึงไม่อาจกำหนดได้ว่าต้นเงินที่ค้างจำนวนใด ค้างตามสัญญาฉบับใด มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใดอีกประการหนึ่งโจทก์ก็มิได้นำสืบถึงประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 15 ต่อปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 1 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share