คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3827/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 56 นั้น ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดประการหนึ่ง และห้ามใช้ยานพานะที่อาจทำให้ทางหลวงเสียหายอีกประการหนึ่ง ดังนั้นเมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยขับรถยนต์ประเภทประกอบการขนส่งส่วนบุคคล มี 3 เพลา 6 ล้อ ชนิดเพลาที่ 2 ที่ 3 เป็นเพลาคู่ใช้ยางคู่ ซึ่งตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินกำหนดว่าต้องมีน้ำหนักลงเพลาไม่เกินเพลาละ 8,200 กิโลกรัม หรือน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 21,000 กิโลกรัม บรรทุกหินเกล็ดไปตามถนน อันเป็นทางหลวงแผ่นดินโดยมีน้ำหนักยานพาหนะน้ำหนักบรรทุกรวม 35,210 กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่ากำหนดตามประกาศดังกล่าวไป 14,210 กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายถึงองค์ประกอบแห่งความผิดตามีที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษครบถ้วนแล้ว หาจำต้องบรรยายมาด้วยว่าอาจทำให้ทางหลวงเสียหายด้วยไม่ เพราะโจทก์มิได้ฟัองขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้ยานพาหนะที่อาจทำให้ทางหลวงเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก็ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๕๖, ๘๓ ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๕๖, ๘๓ จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ เดือน จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กำหนดไปถึง ๑๔,๒๑๐ กิโลกรัม เป็นอันตรายต่อสภาพของทางหลวงแผ่นดินอย่างยิ่ง จึงไม่รอการลงโทษ ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า โดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย และมิได้บรรยายว่าน้ำหนักของรถที่จำเลยใช้กระทำผิดเป็นเท่าใด เป็นน้ำหนักลงเพลาหรือน้ำหนักบรรทุก ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตามฏกหมายนั้น พิเคราะห์แล้ว ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๕๖ ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยบัญญัติไว้ว่า “เพื่อรักษาทางหลวง” ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกิดกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย………..” จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศห้ามใช้ยานพานะที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดประการหนึ่ง และห้ามใช้ยานพาหนะที่อาจทำให้ทางหลวงเสียหายอีกประการหนึ่ง คดีนี้โจทก์มุ่งประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่ผู้อำนวยการทางหลวงกำหนด ฉะนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า จำเลยขับรถยนต์ประเภทประกอบการขนส่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๐๐๑๓ ระนอง ซึ่งมี ๓ เพลา ๖ ล้อ ชนิดเพลาที่ ๒ ที่ ๓ เป็นเพลาคู่ใช้ยางคู่ ซึ่งตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินกำหนดว่า ต้องมีน้ำหนักลงเพลาไม่เกินเพลาละ ๘,๒๐๐ กิโลกรัม หรือน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน ๒๑,๐๐๐ กิโลกรัม บรรทุกหินเกล็ดไปตามถนนอันเป็นทางหลวงแผ่นดินโดยมีน้ำหนักยานพาหนะน้ำหนักบรรทุกรวม ๓๕,๒๑๐ กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่ากำหนดตามประกาศดังกล่าวไป ๑๔,๒๑๐ กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายจึงเป็นการบรรยายถึงองค์ประกอบแห่งความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษครบถ้วนแล้ว หาจำต้องบรรยายมาด้วยว่าอาจทำให้ทางหลวงเสียหายดังที่จำเลยฎีกาไม่ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานใช้ยานพาหนะที่อาจทำให้ทางหลวงเสียหาย คำฟ้องโจทก์จึงชอบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share