แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามข้อบังคับในการปฏิบัติงานของห้างจำเลยระบุว่า ฝ่ายตรวจสอบต้องเข้าประชุมทุกเดือนตามแต่ทางห้างกำหนด
. ถ้าฝ่าฝืนจะถูกสั่งพักงานไม่น้อยกว่า 30 วัน ข้อบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีสิทธิที่จะสั่งลงโทษพักงานโจทก์ได้ไม่น้อยกว่า 30 วัน การที่จำเลยลงโทษเลิกจ้างโจทก์เพราะไม่เข้าประชุม เป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การที่โจทก์ไม่เข้าประชุมเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับในการปฏิบัติงานหรือคำสั่งของจำเลยซึ่งโจทก์เพียงแต่จะต้องถูกสั่งพักงานไม่น้อยกว่า 30 วันเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นการฝ่ายื่นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยทุจริตต่อหน้าที่ และไม่ยอมมาประชุมโดยไม่มีเหตุอันควรเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยระบุว่า “สำหรับฝ่ายตวจสอบต้องเข้าประชุมทุกเดือนตามแต่ทางห้างกำหนด โดยทางห้างจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓ วัน ถ้าหากผู้ใดมีกิจจำเป็นไม่สามารถที่จะเข้าประชุมได้แจ้งให้ทางห้างทราบไม่น้อยกว่า ๑ วันก่อนถึงวันประชุม ถ้าฝ่าฝืนจะต้องถูกสั่งพักงานไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน” ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืน จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีสิทธิที่จะสั่งลงโทษโจทก์ โดยสั่งให้พักงานได้ไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ตามข้อบังคับดังกล่าว จำเลยไม่อาจที่จะลงโทษโจทก์โดยสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ไม่เข้าประชุมเป็นการขัดคำสั่งของจำเลย เป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับในการปฏิบัติงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและการที่โจทก์ไม่เข้าประชุมเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับในการปฏิบัติงาน ซึ่งโจทก์เพียงแต่จะต้องถูกสั่งพักงานไม่น้อยกว่า ๓๐ วันเท่านั้น การทีโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงซึ่งจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า การที่จำเลยไม่เข้าประชุมตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและตามคำสั่งของจำเลยเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง