แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเท่ากับราคาสินค้าในบัญชีราคาสินค้าและหลักฐานเอกสารการชำระเงินให้แก่ผู้ขายและโจทก์นำสืบว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาแท้จริงจึงควรเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของราคาสินค้าซึ่งต้องใช้เป็นเกณฑ์คำนวณภาษีอากร แต่พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 2 นิยามคำว่า ‘ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด’ หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ตามความหมายนี้ ราคาที่โจทก์ซื้อสินค้ามาโดยอ้างว่าเป็นราคาแท้จริง จึงมิใช่เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเสมอไป แม้โจทก์จะนำสืบว่าเคยนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันมาก่อนในราคาเดียวกับการนำเข้าครั้งนี้ก็ปรากฏว่าเป็นการนำเข้าของโจทก์เอง ซึ่งซื้อจากผู้ขายรายเดียวกัน นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นแสดงให้เห็นว่าราคาขายเงินสด ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้ โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาที่นำเข้าและสถานที่ที่นำเข้า ซึ่งเป็นความหมายของราคาอันแท้จริงในท้องตลาดว่าเป็นราคาเท่าใด ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้า อันจะใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรได้
จำเลยให้เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำเมืองฮ่องกง อันเป็นสถานที่ที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าเข้ามา สืบราคาตามร้านใหญ่ ๆ หลายร้านราคาที่สืบได้ส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน เมื่อนำมาเฉลี่ยแล้วราคาขายปลีกสินค้าพิพาทกิโลกรัมละ 3,974.87 เหรียญฮ่องกงคำนวณเป็นราคาขายส่งโดยคิดลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นราคาขายส่ง เอฟ.โอ.บี.กิโลกรัมละ 3,180 เหรียญฮ่องกง อันถือเป็นราคาอันแท้จริงที่ซื้อขายกัน คำนวณเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. โดยนำค่าขนส่งทางอากาศและค่าประกันภัยในบัญชีราคาสินค้าตามที่โจทก์สำแดงไว้ บวกเข้าไป ผลออกมาเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. กิโลกรัมละประมาณ 3,200เหรียญฮ่องกง การหาราคาอันแท้จริงของจำเลยได้กระทำตามขั้นตอนมีการคิดคำนวณรายละเอียดต่าง ๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นวิธีที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ เป็นการสืบหาราคาในเวลาที่ใกล้เคียงพอสมควรกับเวลาที่โจทก์นำเข้า ฟังได้ว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทกิโลกรัมละ 3,200 เหรียญฮ่องกงมิใช่ราคากิโลกรัมละ 750 เหรียญฮ่องกง ดังที่โจทก์สำแดงราคาไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลกจากเมืองฮ่องกงเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย โจทก์ใช้ราคาที่ซื้อขายกันโดยแท้จริงในท้องตลาดเป็นเกณฑ์คำนวณเสียภาษีอากร แต่จำเลยตีราคาสินค้าเพิ่มและเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์เพิ่มอีก ราคาสินค้าที่จำเลยกำหนดขึ้นเป็นเกณฑ์ตีราคานั้นมิใช่ราคาซื้อขายกันโดยแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายของพระราชบัญญัติศุลกากร ขอให้เพิกถอนการตีราคาสินค้าและให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระเพิ่ม ๒,๕๗๓,๖๐๑.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์สมคบกับผู้ขายร่วมกันทำเอกสารสำแดงราคาให้ต่ำกว่าความจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรขาเข้า ฉะนั้น ราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าทั้งหมดตามฟ้องจึงไม่อาจเชื่อถือได้ว่าเป็นราคาในการซื้อขายตามปกติวิสัยในทางการค้า ไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดที่แท้จริงในเวลาที่มีการนำเข้าสำเร็จ เจ้าหน้าที่ของจำเลยประจำกงสุลไทยในเมืองฮ่องกงสืบราคาเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลกจากพ่อค้าขายของชนิดนี้หลายแห่ง แล้วนำราคาที่สืบได้มารวมเฉลี่ยเพื่อหาราคาปานกลาง ซึ่งเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยนำราคาดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์การประเมิน การประเมินชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า การประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีบัญชีราคาสินค้าเป็นพยานเอกสารซึ่งมีข้อความว่า ราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์ซื้อมาทั้ง ๓ ครั้ง ราคากิโลกรัมละ ๗๕๐เหรียญฮ่องกง และโจทก์มีหลักฐานเอกสารการชำระเงินให้ผู้ขายเป็นจำนวนเงิน ๖๑,๓๖๑.๒๕ ๑๖๐,๔๗๓.๗๕ และ ๒๐๐,๒๕๗.๕๐ เหรียญฮ่องกง เท่ากับที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้า และโจทก์นำสืบว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาแท้จริงจึงควรเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทซึ่งต้องใช้เป็นเกณฑ์คำนวณภาษีอากร เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช๒๔๖๙ มาตรา ๒ ให้นิยามของคำว่า ‘ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด’ ไว้หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออก แล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ตามความหมายนี้ ราคาที่โจทก์ซื้อสินค้าพิพาทมาโดยอ้างว่าเป็นราคาแท้จริง จึงมิใช่เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเสมอไปแม้โจทก์จะนำสืบว่า เคยมีการนำเข้าเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลกมาก่อนในราคาเดียวกับการนำเข้าครั้งพิพาทนี้ก็ปรากฏว่าเป็นการนำเข้าของโจทก์เอง และบริษัทวิงตั๊กฮิงเป็นผู้ขายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นแสดงให้เห็นว่าราคาขายเงินสด ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้ โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาที่นำเข้าสินค้าพิพาท และสถานที่ที่นำเข้า ซึ่งเป็นความหมายของราคาอันแท้จริงในท้องตลาดว่าเป็นราคาเท่าใด จึงยังถือไม่ได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาท จึงจะใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรได้ ส่วนจำเลยนำสืบว่า ในขณะนั้น ไม่มีราคากลางสำหรับเปรียบเทียบกับราคาของสินค้าพิพาท จำเลยจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยประจำเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นสถานที่ที่โจทก์สั่งซื้อสินค้าพิพาทเข้ามา สืบราคาสินค้าเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลก นายวรชัย ซึ่งขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งกงสุลฝ่ายศุลกากร ณ เมืองฮ่องกง พยานจำเลยเบิกความว่าพยานได้ออกสืบราคาสินค้าเขากวางอ่อนติดหัวกะโหลกตามร้านใหญ่ ๆ ของฮ่องกง จำนวนหลายร้าน เป็นห้างสรรพสินค้าของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอันเป็นต้นกำเนิดของสินค้าดังกล่าวและร้านขายยา ราคาที่สืบได้ส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน พยานได้ทำบันทึกไว้ ปรากฏว่าราคาเฉลี่ยขายปลีกเขากวางอ่อน เกรด ๓ อันเป็นราคาต่ำสุดราคาตำลึงละ ๑๐๒.๘๕๗ เหรียญฮ่องกง ซึ่งเมื่อคิดเทียบเป็นกิโลกรัมแล้ว จะเป็นราคากิโลกรัมละ ๒,๗๔๒.๘๕ เหรียญฮ่องกง ดังนั้นที่โจทก์สำแดงราคากิโลกรัมละ ๗๕๐ เหรียญฮ่องกงแตกต่างกันมาก จึงไม่น่าเชื่อว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นเป็นราคาซื้อขายอันแท้จริง นายประยูร และนางปรียา พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้คิดคำนวณราคาขายส่งจากราคาขายปลีกที่สืบได้จากเมืองฮ่องกง เบิกความถึงวิธีคิดหาราคาเฉลี่ยและราคาขายส่ง เอฟ.โอ.บี.ประกอบกับเอกสาร ล.๖ ปรากฏว่าราคาขายปลีกสินค้าพิพาทเฉลี่ยกิโลกรัม ๓,๙๗๔.๘๗ เหรียญฮ่องกง คำนวณเป็นราคาขายส่งโดยคิดลดลง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นราคาขายส่ง เอฟ.โอ.บี. กิโลกรัมละ ๓,๑๘๐เหรียญฮ่องกงอันถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงที่ซื้อขายกัน และนางดวงพร พยานจำเลยก็เบิกความว่าเนื่องจากราคาที่คำนวณได้ดังกล่าวเป็นราคา เอฟ.โอ.บี. พยานจึงได้คำนวณเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. โดยนำค่าขนส่งทางอากาศ และค่าประกันภัยในบัญชีราคาสินค้าตามที่โจทก์สำแดงไว้ บวกเข้าไปผลออกมาเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.กิโลกรัมละประมาณ ๓,๒๐๐ เหรียญฮ่องกง เห็นว่าการหาราคาอันแท้จริงของจำเลยได้กระทำตามขั้นตอน มีการคิดคำนวณรายละเอียดต่างๆ อย่างมีเหตุผลและเป็นวิธีที่ถูกต้องน่าเชื่อถือและเป็นการสืบหาราคาในเวลาที่ใกล้เคียงพอสมควรกับเวลาที่โจทก์นำเข้าพยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาท กิโลกรัมละ ๓,๒๐๐ เหรียญฮ่องกง เป็นราคาที่ถูกต้อง จำเลยประเมินราคาสินค้าพิพาทใหม่โดยถือราคาดังกล่าวเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงชอบแล้ว และจำเลยชอบที่จะประเมินภาษีอากรโดยถือเอาราคาดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณในการประเมินได้ ดังนั้นการประเมินราคาและภาษีอากรของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน.