คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีรถสองคันแล่นสวนทางกันและเกิดชนกันได้รับความเสียหายแม้ว่าความเสียหายนั้นจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เมื่อจำเลยมิได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคแรก และมีโทษตามมาตรา 160 วรรคแรก
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐, ๓๙๐, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๗๘, ๑๖๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๐๐, ๓๙๐ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖)พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๗๘ ให้เรียงกระทงลงโทษ กระทงแรกเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุก ๖ เดือน กระทงที่สองให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ ให้จำคุก ๑ เดือน รวมจำคุก ๗ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดโดยประมาทหรือไม่ตามแผนที่เกิดเหตุ และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุบอกว่าจุดชนอยู่ในเส้นทางของรถจักรยานยนต์ ห่างกึ่งกลางถนน ๑.๕ เมตร พบเศษแก้ว กระจายตกอยู่บริเวณจุดชนหลายชิ้น และนายวิทยาผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยได้ขับรถยนต์เข้ามาในช่องทางเดินของรถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายได้ห้ามล้อและหักรถไปทางขวา รถของจำเลยก็พุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ล้มลง ผู้เสียหายและนายชัยพงษ์ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ หากเป็นไปตามแผนที่เกิดเหตุ และคำของพยานโจทก์แล้วหัวรถยนต์จำเลยต้องชนด้านข้างซ้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหาย หัวรถยนต์จำเลยต้องมีรอยชน แต่ตามรายงานการตรวจสภาพรถของนายดาบตำรวจมนูญ เพชรฤทธิว่ารถของจำเลยมีส่วนที่ชำรุดเสียหาย คือ บังโคลนหน้าด้านซ้ายส่วนหลัง บุบยุบประมาณ ๔ X ๑๒ นิ้ว ประตูด้านซ้ายส่วนหน้า บุบยุบประมาณ ๔ X ๖ นิ้ว และรถจักรยานยนต์ผู้เสียหาย มีส่วนที่ชำรุดเสียหาย คือ หน้ากากสำหรับติดโคมไฟใหญ่หน้าแตกฯลฯ ซึ่งสภาพความเสียหายรถทั้งสองคันน่าจะเป็นว่า รถจักรยานยนต์ใช้หัวรถชนรถยนต์ทางด้านข้าง โดยจำเลยนำสืบว่าเห็นรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแซงรถจักรยานยนต์อีก ๒ คันขึ้นมา และแล่นล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของจำเลยรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุหักออกไปทางขวาซึ่งเป็นซ้ายมือของจำเลย จำเลยจึงขับรถหลบไปทางขวาและทางด้านซ้ายมีรถสามล้อจอดอยู่ รถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุจึงหักกลับ และเสียหลักแฉลบมาชนรถยนต์ที่จำเลยขับ ข้อนำสืบของจำเลยมีเหตุผลน่าเชื่อกว่าสภาพเช่นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยประมาท ขับรถยนต์ชนรถผู้เสียหายรูปคดีจึงเป็นที่สงสัยไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยไม่ได้แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง จำเลยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘, ๑๖๐ วรรคแรก หรือไม่นั้น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ วรรคแรก มีข้อความว่า ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควรและพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตน และหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าว กรณีตามคดีนี้ซึ่งมีรถสองคันแล่นสวนทางกันและเกิดชนกันได้รับความเสียหายแม้ว่า ความเสียหายนั้นจะมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เมื่อจำเลยเบิกความรับว่า มิได้แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จริง ก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามมาตรา ๗๘ วรรคแรก และมีโทษตามมาตรา ๑๖๐ วรรคแรก ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘, ๑๖๐ วรรคแรก ให้ปรับจำเลย ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share