คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 (1) และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ” ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีนั้นโจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายตามเช็คหรือไม่ต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 3 (1) ในกรณีอื่น หรือมาตรา 3 (2) หรือมาตรา 3 (3) และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่ายกรณีเช่นนี้ โจทก์จึงจะต้องนำสืบถึงจำนวนเงินในบัญชีของจำเลยในวันออกเช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญยัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้” ธนาคารมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็ค การที่จำเลยจะมีเงินในบัญชีพอจ่ายหรือไม่ จึงมิใช่เหตุที่ธนาคารตามเช็คใช้พิจารณา โจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าวันออกเช็คจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีพอจ่ายตามเช็คหรือไม่การกระทำของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คคดีโจทก์จึงมีมูลแล้วนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ (๑) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใด
(๑) ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ
ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นมีความผิด ฯลฯ
ตามบทกฎหมายดังกล่าว เห็นได้ว่าการกระทำตามอนุมาตรา (๑) หากธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คตามความในวรรคท้ายก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว และสำหรับคดีนี้ โจทก์ฟ้องอ้างว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชี ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบได้ความตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในฟ้องแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบว่าในวันออกเช็คจำเลยมีเงินในบัญชีพอที่จะจ่ายเงินตามเช็คหรือไม่ กรณีต่างกับการฟ้องขอให้ลงโทษตามอนุมาตรา (๑) ในกรณีอื่น หรืออนุมาตรา (๒) ซึ่งบัญญัติว่า “ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้” หรืออนุมาตรา (๓) ซึ่งบัญญัติว่า”ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น” และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่ายกรณีเช่นนี้โจทก์จึงจะต้องนำสืบถึงจำนวนเงินในบัญชีของจำเลยในวันออกเช็คอย่างไรก็ดี การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ นี้ เบื้องแรกจะต้องให้ได้ความเสียก่อนว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาจะให้ผูกพันและชำระหนี้กันได้ตามกฎหมาย เมื่อปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์เองว่า “การที่จำเลยออกเช็คฉบับนี้ไว้ก็เพื่อเป็นการค้ำประกันว่า เมื่อได้รับเงินจากกรมป่าไม้แล้วจะนำเงินมาชำระให้แก่ข้าฯ”อันเป็นการแสดงว่าจำเลยมิได้ออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ หากเป็นการออกให้ไว้เพื่อเป็นการค้ำประกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share